การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญอย่างไร?

การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญอย่างไร?

การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญอย่างไร? การตรวจสุขภาพ เน้นที่การตรวจก่อนการเป็นโรค การตรวจสุขภาพที่ถูกต้องจะทำให้เราได้รู้ว่า “เรายังมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง” เพื่อจะได้ป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคต่างๆ และหากสามารถขจัดได้ก็ไม่เป็นโรค การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะที่ยังปราศจากอาการ มีประโยชน์ต่อตัวเรามากกว่าการตรวจพบเมื่อมีอาการแล้ว

การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญอย่างไร?

การตรวจสุขภาพประจำปี จำเป็นต้องตรวจทุกปีไหม?
ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี ควรได้รับการตรวจเท่าที่จำเป็นเท่านั้น การใช้คำว่าตรวจสุขภาพประจำปี ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าต้องมาตรวจสุขภาพทุกปี แต่เราพบว่าในคนที่อายุน้อยสุขภาพแข็งแรง ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจทุกปี อาจตรวจเพียงปีเว้นปีก็เพียงพอแล้ว

โดยปกติควรเริ่มตรวจสุขภาพตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
อายุ 20 – 30 ปี ควรตรวจความดันโลหิต และเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจการทำงานของไต และตรวจการทำงานของตับ

รายการตรวจพื้นฐานที่สำคัญ
ช่วงอายุน้อยกว่า 40 ปี ควรตรวจวัดความดันโลหิต ค่าดัชนีมวลกายและตรวจเอ็กซเรย์ปอด หัวใจ และตรวจมะเร็งปากมดลูก

ช่วงอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป ควรตรวจเบาหวาน ไขมัน การทำงานของไต การทำงานของตับ อัลตราซาวนด์ช่องท้องทั้งหมด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง เช่น ตรวจมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก

คำอธิบายของ ผลตรวจสุขภาพ มีดังนี้
1. การวัดสัญญาณชีพ และการตรวจร่างกาย ตรวจค้นหาความผิดปกติของความดันโลหิต และความผิดปกติอื่นๆ ที่สามารถค้นพบได้เบื้องต้นจากการตรวจร่างกายของแพทย์

2. ดัชนีมวลกาย เป็นการวัดความสมดุลของน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) และส่วนสูง (เซนติเมตร) ซึ่งสามารถระบุได้ว่า ตอนนี้รูปร่างของคนคนนั้นอยู่ในระดับใด ตั้งแต่อ้วนมากไปจนถึงผอมเกินไป

3. การตรวจเลือด

การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญอย่างไร?

ผลเลือดผิดปกติก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง?
โรคไขมัน โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ และเส้นเลือดในสมอง

3.1 การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC) เป็นการตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกร็ดเลือด ความเข้มข้นของเลือด ซึ่งอาจบ่งบอกถึงความผิกปกติของระบบเลือด ภาวะโลหิตจาง หรือภาวะที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย

3.2 การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) เป็นการตรวจคัดกรองหาภาวะโรคเบาหวาน หรือมีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน

3.3 การตรวจไขมันในเลือด เป็นการตรวจวัดระดับไขมัน โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ ไขมันโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และไขมันโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพื่อระบุความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ

**ไขมันดี (HDL) และไขมันไม่ดี (LDL) ต่างกันอย่างไร?
ไขมันดี (HDL) เป็นไขมันที่มีความหนาแน่นสูงซึ่งดีกับหลอดเลือดแดง เนื่องจากช่วยป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันไม่ดี (LDL) สะสมในหลอดเลือดแดง หากขาดไขมันดี (HDL) ในเลือด ก็จะทำให้เป็นการเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้

3.4 การตรวจโรคเกาต์ (กรดยูริค) เป็นการตรวจวัดเพื่อวัดระดับกรดยูริค ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโรคเกาต์ และอาการปวดข้อ