การตรวจสุขภาพ : “ฟันผุ” อย่าปล่อยไว้ อันตรายถึงชีวิต ฟันผุ เกิดได้จากหลายสาเหตุ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษา อาจลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟันทำให้เกิดการอักเสบ และติดเชื้อปลายรากฟัน เกิดเป็นหนองและทะลุออกสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง แล้วลามไปส่งผลต่อระบบการกลืนอาหาร การหายใจ หรือการมองเห็น
สาเหตุของการเกิด “ฟันผุ”
ทันตแพทย์อำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟันผุเกิดจากการมีเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาลจากอาหารที่เรารับประทานสัมผัสกับฟันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนแผ่นคราบจุลินทรีย์สร้างกรดที่มีฤทธิ์ทำลายผิวฟัน จนกระทั่งทำให้ฟันถูกกัดกร่อนทำลายเป็นรูผุ จากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟัน
อันตรายของอาการ “ฟันผุ”
เสียวฟัน เมื่อรับประทานอาหารร้อน หรือเย็น จากการที่ผิวฟันถูกกัดกร่อนทำลายจนเป็นรูผุจากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟัน
ปวดฟัน รากฟันอักเสบเป็นหนอง จากการที่ฟันผุทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟัน
หากเกิดอาการอับเสบ เป็นหนอง อาจเสี่ยงติดเชื้อลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ตา ลำคอ โพรงไซนัส สมอง และระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกลืนอาหาร การหายใจ ไปจนถึงการมองเห็นได้
วิธีป้องกันอาการฟันผุ
ควรพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำทุก 6-12 เดือน เพื่อทำการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกๆ ที่ยังไม่มีอาการและสามารถรักษาให้หายก่อนที่โรคจะลุกลามมากขึ้น
ตรวจช่องปาก ขูดหินปูน และทำความสะอาดฟัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคฟันผุ ช่วยป้องกันและยับยั้งปัญหา ในช่องปากและโรคฟันอื่นๆ
ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน และใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟันที่ขนของแปรงสีฟันเข้าไปไม่ถึง
การป้องกันฟันผุ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ควรหมั่นสังเกตฟันของตนเอง ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่ควรกินจุบจิบ และทำความสะอาดฟันให้สะอาดอยู่เสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคฟันผุได้