การตรวจสุขภาพ : วิธีลด “ไตรกลีเซอไรด์” อีกหนึ่งสาเหตุโรคหัวใจ ไตรกลีเซอไรด์ เป็นหนึ่งในไขมันที่มีอนุภาคขนาดเล็ก โดยปกติแล้วไตรกลีเซอไรด์เกิดได้จากการสังเคราะห์ของระบบร่างกายเรา แต่อาจน้อยกว่าการรับมาจากอาหารที่รับประทาน ซึ่งหากมีปริมาณมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการร้ายแรงบางอย่างได้ บทความของ Hello คุณหมอ จึงขอนำวิธีลดไตรกลีเซอไรด์เบื้องต้น ที่คุณสามารถลงปฏิบัติด้วยตนเองง่ายๆ ก่อนเผชิญกับโรคที่ไม่อาจคาดเดาได้ ฝากทุกคนกัน
ทำไม “ไตรกลีเซอไรด์” จึงเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจได้
เนื่องจากไตรกลีเซอไรด์ เป็นหนึ่งในไขมันอีกชนิดที่อยู่ภายในเลือดของคุณ ที่เกิดจากแคลอรี่ในอาหารส่วนเกิน เมื่อใดระดับไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายของคุณนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูง ก็จะสามารถส่งผลให้หลอดเลือดแดงมีการแข็งตัว ผนังของหลอดเลือดเริ่มหนา จนสร้างความเสี่ยงก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย และโรคหัวใจได้ในที่สุด
ระดับไตรกลีเซอไรด์ บ่งชี้สุขภาพได้อย่างไรบ้าง
การตรวจเลือดอาจเป็นทางออกที่ดีที่ทำให้คุณรู้ถึงระดับไตรกลีเซอไรด์ แต่ยังคงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย โดยผลลัพธ์ปริมาณของระดับไตรกลีเซอไรด์ สามารถเช็คได้จากข้อมูลด้านล่าง ดังต่อไปนี้
ไตรกลีเซอไรด์ ระดับปกติ จะมีปริมาณที่น้อยว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dl)
ไตรกลีเซอไรด์ ระดับเริ่มสูง จะมีปริมาณ 150-199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dl)
ไตรกลีเซอไรด์ ระดับสูง จะมีปริมาณ 200-499 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dl)
ไตรกลีเซอไรด์ ระดับสูงมาก จะมีปริมาณอยู่ที่ 500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dl) ขึ้นไป
เพื่อเป็นการหาปริมาณไตรกลีเซอไรด์ให้แม่นยำยิ่งขึ้น คุณอาจต้องปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์ในก่อนวันนัดหมายร่วมด้วย เช่น การงดอาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น
วิธีลดไตรกลีเซอไรด์ในร่างกาย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ดีของตนเอง อาจเป็นอีกหนทางที่จะนำพาให้คุณห่างไกลจากโรคร้ายแรงที่เกิดจากเพิ่มปริมาณของ ไตรกลีเซอไรด์ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งคุณสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกาย เป็นการช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดี โดยสามารถเริ่มได้จากการวิ่ง ปั่นจักรยาน แอโรบิค เป็นต้น อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
ลดอาหารที่ประกอบด้วยน้ำตาล และคาร์โบไฮเดรตสูง เพราะอาหารเหล่านี้ อาจแปรเปลี่ยนเป็น ไตรกลีเซอไรด์ ในปริมาณสูง และกักเก็บไว้ในเซลล์ไขมันได้
รับประทานไฟเบอร์ให้มากขึ้น จากการศึกษาพบว่าอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช อาจมีผลทำให้ ไตรกลีเซอไรด์ ลดลง แต่ถ้าหากมีการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อที่ประกอบด้วยไฟเบอร์น้อยจนเกินไป ระดับ ไตรกลีเซอไรด์ ก็จะเพิ่มกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วถึง 45% ภายในระยะเวลา 6 วันเลยทีเดียว
จำกัดปริมาณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มอาจมีน้ำตาล และแคลอรี่อยู่สูงจึงสามารถทำให้ระดับ ไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มขึ้นตามได้ และทำให้เกิดการสะสมของไขมันในเส้นเลือดอย่างรุนแรงได้อีกด้วยเช่นกัน