กินเค็มเสี่ยงโรคไต ทำอย่างไรให้ห่างจาก “โรคไต” “กินเค็มระวังเป็นโรคไต” ประโยคคุ้นหูที่หลายคนมักใช้เตือนคนในครอบครัว คนใกล้ตัวหรือเพื่อนสนิทที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็มเป็นชีวิตจิตใจ ! เพราะความเค็มเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งของโรคไต ซึ่งข้อมูลจากเครือข่ายลดบริโภคเค็มเปิดเผยว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 40,000 คนต่อปี หรือ 108 คนต่อวัน และเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตกว่า 500,000 คน
บทความนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จัก ‘โรคไต’ กันให้มากขึ้น ตั้งแต่สาเหตุ อาการ ไปจนถึงการรักษา เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าโรคนี้ใกล้ตัวกว่าที่คิดแต่เราก็สามารถดูแลตัวเองไม่ให้เป็นโรคไตได้ง่ายๆ เหมือนกัน
รู้จักโรคไต
ไต คืออวัยวะภายในที่มีหน้าที่กำจัดของเสีย ควบคุมความเป็นกรด-ด่างในกระแสเลือด ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ และควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย หากไตเกิดความเสียหายจนทำงานผิดปกติหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมา เนื่องจากไตไม่สามารถฟอกเลือดหรือขับของเสียออกจากเลือดได้ตามปกติ โรคร้ายที่เกิดกับไตมีหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อย ได้แก่ กรวยไตอักเสบ ไตอักเสบ นิ่วในไต ไตเรื้อรัง และไตวาย
หากป่วยเป็นโรคไต ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น หากสังเกตพบอาการที่บ่งชี้ว่าไตมีปัญหา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที
โรคไต คือสาเหตุของการเกิดโรคไต กินเค็มเสี่ยงโรคไตจริงหรือ ?
จากคำถามด้านบนตอบได้เลยว่า ‘จริง’ ซึ่งตรงกับความเข้าใจของคนโดยทั่วไปที่แม้จะรู้แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะลดการกินเค็มจนป่วยเป็นโรคไต หรือบางส่วนก็รู้และลดกินเค็มแล้ว แต่ก็ยังเป็นโรคไตอยู่ดี เพราะจริงๆ แล้วความเค็มไม่ใช่สาเหตุเดียวของโรคไต ยังมีผู้ร้ายอีกหลายรายที่เราต้องใส่ใจ ถ้าไม่อยากเป็นโรคไต เช่น
-การกินอาหารรสจัด ทั้งเค็มจัด หวานจัด และเผ็ดจัด
-โซเดียม หรือเกลือแร่ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย แต่ถ้ากินอาหารที่มีโซเดียมสูงเกินไป เช่น เครื่องปรุงรส อาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป ไตก็จะทำงานหนักและนำไปสู่ภาวะไตเสื่อมในที่สุด
-เกิดจากโรคอื่นที่มีผลกระทบกับไต เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
-ดื่มน้ำน้อยเกินไป
-ไม่ออกกำลังกาย
-ความเครียด
-เกิดจากพันธุกรรม
อาการของโรคไต
ในช่วงแรกผู้ป่วยโรคไตแทบจะไม่มีอาการของโรค แต่ในระยะท้ายๆ ที่ไตได้รับความเสียหายไปมากแล้ว ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเหล่านี้ปรากฏออกมา
ตัวบวม เพราะมีน้ำและเกลือเพิ่มขึ้นในร่างกาย สามารถทดสอบได้ด้วยการใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อย หากพบว่ามีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่าบวมแน่น ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค
เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หากอยู่ในระยะใกล้เป็นไตวายเรื้อรังจะมีอาการตัวซีด
ปวดหลัง ปวดบั้นเอว ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการอุดตันที่ท่อไต กรวยไตอักเสบ หรือในท่อไตมีถุงน้ำโป่งพองก็ได้ แต่อาการปวดหลังก็สามารถวินิจฉัยได้หลายโรคเช่นกัน
ปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีกลิ่นหรือสีผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นฟองมาก ฯลฯ
ความดันโลหิตสูงผิดปกติ