ประเภทของประกันสุขภาพ : เช็กลิสต์ต้องรู้ ก่อนตัดสินใจซื้อประกัน

ประเภทของประกันสุขภาพ : เช็กลิสต์ต้องรู้ ก่อนตัดสินใจซื้อประกัน นอกจากข้อเสนอและเงื่อนไขที่ประกันภัยทุกรูปแบบแย่งกันแบออกมายั่วใจคุณในโบรชัวร์แล้ว สิ่งที่คุณต้องให้ความสนใจมากกว่านั้นคือ ข้อความตัวหนังสือเล็กๆ ยาวพรืดตามหลังดอกจัน ที่สำคัญเสียยิ่งกว่าผลประโยชน์ในการคุ้มครองเสียอีก

เพราะหากคุณทำผิดกฎกติกาข้อใดภายใต้เครื่องหมายดอกจัน เท่ากับว่าเบี้ยประกันทั้งหมดที่คุณเพียรส่งไม่ขาดทุกงวด แทบจะไร้ผลไปในทันที และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวคุณเอง เหล่านี้คือเรื่องที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิต

1. กำหนดค่าคุ้มครองให้ตรงความต้องการ
กรมธรรม์ประกันชีวิตแต่ละแบบมีค่าคุ้มครองและการคุ้มครองโรคที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ก่อนที่คุณจะเริ่มลงทุนไปกับกรมธรรม์ประกันชีวิต จึงต้องตั้งกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานที่ต้องการเสียก่อน เช่น ต้องมีวงเงินขั้นต่ำเท่าไร คุ้มครองโรคอะไรเป็นหลัก ถ้าต้องนอนโรงพยาบาลเบิกค่าใช้จ่ายได้แค่ไหน ส่งเบี้ยประกันเดือนละเท่าไร ฯลฯ และที่สำคัญต้องพิจารณาก่อนว่าประกันที่คุณกำลังจะซื้อนั้นคุ้มครองสิ่งที่คุณต้องการทั้งหมดจริงๆ หรือไม่ เพื่อให้คุ้มเม็ดเงิน ทุกบาททุกสตางค์ของคุณ

2. ตอบคำถามตามความจริงเท่านั้น
ด้วยความที่ประกันแต่ละแบบมีความแตกต่างในเรื่องรายละเอียดสิทธิต่างๆ รวมถึงเงื่อนไขในการสมัคร เช่น ไม่ต้องตรวจสุขภาพก็สามารถสมัครได้ แต่ทั้ไม่ได้แปลว่าผู้ทำประกันจะสามารถปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลสุขภาพของตนได้ หรือการให้ข้อมูลประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว ประกันบางประเภทอาจจะปฏิเสธการรับสมัครถ้าหากเคยมีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นโรคบางชนิด ซึ่งถ้าคุณให้ข้อมูลเป็นเท็จและบริษัทประกันตรวจพบ บริษัทฯ ก็สามารถปฏิเสธการจ่ายเงินได้

3. เปรียบเทียบก่อนตัดสินใจทำประกัน
การทำประกันไม่ต่างอะไรกับการเลือกลงทุนในสถาบันทางการเงิน โดยมีผลตอบแทนในการลดความเสี่ยง และได้รับเงินก้อนเมื่อครบเงื่อนไข ดังนั้น คุณจึงควรเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับจากประกันแต่ละเจ้า แต่ละรูปแบบโดยห้ามใจร้อนเด็ดขาด หมั่นเปรียบเทียบข้อเสนอต่างๆ ให้เป็นนิสัย จะได้ไม่ต้องเสียดายทีหลัง

4. ทำประกันชีวิต ยิ่งเร็ว ยิ่งดี และต้องมั่นใจว่าไม่มีทางขาดส่งเบี้ยประกันแน่ๆ
ยิ่งคุณอายุน้อย เบี้ยประกันชีวิตยิ่งน้อยตาม เพราะมีความเสี่ยงต่ำ จึงควรรีบทำประกันตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วก็อย่าลืมรักษาสุขภาพและขยันทำงาน บริหารสภาพคล่องทางการเงินให้ดี จะได้มีเงินส่งเบี้ยประกันไม่ขาด ทางที่ดีควรเลือกจ่ายเบี้ยผ่านระบบตัดเงินอัตโนมัติออนไลน์ จะได้มั่นใจว่าไม่พลาดการชำระเบี้ยประกันแน่นอน

5. อ่านเอกสารสัญญาโดยละเอียดทุกครั้ง
แม้ข้อความในหนังสือสัญญาจะยาวเป็นพรืด และใช้ภาษายากๆ คุณก็ต้องพยายามอ่านให้ละเอียดและทำความเข้าใจ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่มักมาในรูปแบบของดอกจัน เพราะทุกตัวหนังสือคือ สิทธิประโยชน์ของตัวคุณเอง ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาเอาประกัน ดอกเบี้ย เงื่อนไขการจ่ายเงินคุ้มครอง ฯลฯ รวมถึงสิทธิที่อาจเสียไปหากไม่ทำตามเงื่อนไข เช่น กรณีที่คุณเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครอง คุณต้องพิจารณาคำจำกัดความของคำว่า “โรคร้ายแรง” ที่ระบุในกรมธรรม์ด้วยว่า โรคร้ายแรงที่คุ้มครองหมายถึงโรคอะไรบ้าง แต่ละโรคต้องมีอาการหรือขั้นของโรคนั้นๆ อย่างไร