ซื้อประกันสุขภาพ…ซื้ออย่างไรให้คุ้ม

ซื้อประกันสุขภาพ…ซื้ออย่างไรให้คุ้ม ศึกษาแบบประกันอย่างละเอียดว่าคุ้มครองอะไรบ้าง ไม่คุ้มครองอะไร และความคุ้มครองจะเกิดขึ้นเมื่อไร เพื่อป้องกันปัญหาการเบิกเคลมค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง

“การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” เชื่อว่าใคร ๆ ก็อยากมีสุขภาพดี เพราะสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงนำไปสู่สุขภาพจิตที่แจ่มใส แต่ต้องยอมรับว่า คนเรามีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ ซึ่งโรคบางโรคมีค่ารักษาสูงถึงหลักแสนหรือหลักล้านบาทเลยทีเดียว และค่ารักษาก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจกระทบกับเงินออมของเราได้ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการกับค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นนี้

ซื้อเพิ่มเติมจากความคุ้มครองที่มีอยู่
ปกติประกันสุขภาพสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ แบบแยกค่าใช้จ่าย และแบบเหมาจ่าย โดยประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่ายจะมีวงเงินคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแยกเป็นรายการ ๆ เช่น ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าแพทย์ ค่าผ่าตัด ค่ายา และค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ

ส่วนประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายจะกำหนดวงเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นแบบต่อครั้งค่ะ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพควรสำรวจสวัสดิการด้านต่าง ๆ ของเราดูก่อนว่า มีอยู่แล้วมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการที่ได้จากบริษัทที่ทำงาน หรือสวัสดิการจากภาครัฐ เช่น กองทุนประกันสังคม แล้วค่อยตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมค่ะ เช่น ถ้าค่าห้องของโรงพยาบาลที่เราจะใช้บริการเมื่อเจ็บป่วยอยู่ที่คืนละ 5,000 บาท ซึ่งสวัสดิการมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลในส่วนของค่าห้องให้คืนละ 2,000 บาท ก็สามารถซื้อประกันสุขภาพที่มีวงเงินค่าห้อง 3,000 บาท หรือถ้าคิดว่าวงเงินค่ารักษาจากสวัสดิการไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น อย่างค่าผ่าตัด ก็สามารถซื้อประกันสุขภาพให้ตัวเองมีความคุ้มครองมากขึ้นได้ค่ะ

หลายคนมักจะคิดว่า สุขภาพของเราแข็งแรงดีก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพ แต่จริง ๆ แล้ว เราควรทำประกันสุขภาพตอนที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดีค่ะ เพราะเมื่อป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งขึ้นมา บริษัทประกันอาจไม่รับทำประกัน หรือรับทำแต่ไม่คุ้มครองโรคที่เป็นอยู่ก็ได้ค่ะ เช่น ถ้าป่วยเป็นโรคเบาหวานมาก่อนทำประกัน บริษัทจะไม่คุ้มครองหากผู้ทำประกันต้องรักษาตัวด้วยโรคเบาหวาน

นอกจากนี้ ควรทำประกันตั้งแต่ตอนที่อายุยังน้อย เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็มักจะตามมาเป็นเงาตามตัว โอกาสที่บริษัทจะรับทำประกันก็น้อยลง ซึ่งประกันสุขภาพบางกรมธรรม์ให้เราทำประกันสุขภาพได้ถึงอายุมาก ๆ เช่น 80 ปี หรือตลอดชีวิต แต่ต้องมีการทำประกันมาก่อนหน้านั้น และเป็นการต่ออายุในแต่ละปี ซึ่งจะไม่สามารถซื้อได้เลยทันทีเมื่ออายุเรามากถึง 80 ปีแล้ว ดังนั้น ถ้าอยากให้ตัวเองมีความคุ้มครองสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้น ก็ควรวางแผนทำประกันสุขภาพเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ค่ะ

หากใครต้องการซื้อประกันสุขภาพให้มีความคุ้มครองครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้มากที่สุดก็ต้องเลือกแบบประกันที่มีความคุ้มครองสูง แต่ค่าเบี้ยประกันก็จะสูงตามไปด้วยค่ะ เราจึงควรสำรวจเงินในกระเป๋าของตัวเองก่อนว่า สามารถจ่ายเบี้ยไหวหรือไม่

และที่สำคัญคือ ถ้าจะต่ออายุประกันสุขภาพจนถึงตอนที่เรามีอายุมากขึ้นหรือเป็นช่วงที่เกษียณอายุแล้ว อย่าลืมพิจารณาถึงค่าเบี้ยประกันในแต่ละปีซึ่งจะปรับเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และความเสี่ยงในการเกิดโรคภัยไข้เจ็บที่มากขึ้นด้วยว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินกำลังความสามารถของเราหรือไม่ รวมถึงกันเงินสำหรับจ่ายค่าเบี้ยประกันในแต่ละปีเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองว่าเบี้ยประกันสูงเกินกำลังที่เราจ่ายไหวก็สามารถไม่ทำประกันในปีต่อไปได้ หรืออาจจะเลือกแบบประกันสุขภาพที่เบี้ยประกันไม่สูงมาก อยู่ในความสามารถที่เราจ่ายไหว แต่วงเงินความคุ้มครองก็จะลดลงค่ะ

การทำประกันสุขภาพก็เปรียบเหมือนเป็นการช่วยปกป้องเงินเก็บของเราที่อาจต้องจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ก่อนตัดสินใจทำประกันสุขภาพ อย่าลืมศึกษารายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันสุขภาพแต่ละแบบ เพื่อเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเราเองหรือครอบครัวมากที่สุดค่ะ