ตรวจสุขภาพผู้สูงวัย ดีกว่าปล่อยให้แย่จะแก้ไม่ทัน การดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุ มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนค่อนข้างมาก เพราะสองในสามของผู้สูงอายุมักมีโรคเรื้อรังตั้งแต่สองโรคขึ้นไป และหลายท่านมีการใช้ยาหลายชนิดซึ่งอาจนำไปสู่อาการไม่พึงประสงค์จากยา อีกทั้งคนวัยนี้ยังมีภาวะทางอารมณ์ที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัวมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เริ่มมีปัญหาตามวัย เช่น สมองเสื่อม เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก แต่ตัวผู้สูงอายุและคนในครอบครัว มักเข้าใจผิดว่าเป็นการเสื่อมสภาพตามวัย จึงละเลยหรือไม่ใส่ใจเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ
การตรวจสุขภาพในคนสูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ผู้สูงอายุหลายคนเข้าใจว่าตนเองมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาตลอด ไม่เห็นเจ็บป่วยอะไร ไม่มีโรคประจำตัว จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่ยอมตรวจสุขภาพ เพียงเพราะกลัวว่าตรวจแล้วจะเจอโรค ทำให้ไม่สบายใจ สู้ไม่ตรวจสุขภาพเสียเลยจะได้ไม่ต้องมารับรู้ความเจ็บป่วยของตนเอง
ในความเป็นจริงนั้น การตรวจสุขภาพมีประโยชน์สำหรับคนวัยนี้เป็นอย่างมาก เพราะเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็จะเสื่อมไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น และอาจมีการก่อตัวของโรคต่างๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่ได้ฉายาว่าเป็น “มัจจุราชเงียบ” เพราะเป็นโรคที่ไม่ค่อยมีอาการเตือนล่วงหน้า จนกระทั่งมาพบแพทย์ด้วยอาการแทรกซ้อนของความเจ็บป่วยอื่น ๆ ซ้ำร้ายตรงที่การเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ความเสี่ยงต่ออีกโรคก็จะเพิ่มขึ้นตามมาแบบ “ไม่ต้องเหมาจ่ายก็ได้โรคแบบโปรยกแก๊งค์” กันเลยทีเดียว
การตรวจสุขภาพในผู้สูงอายุเป็นประจำ จึงทำให้ผู้สูงอายุได้รับการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น ความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย การทรงตัว หู ตา ช่องปาก การขับถ่าย การออกกำลังกาย การทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจความแข็งแรงของมวลกระดูก ตรวจสุขภาพจิต ตรวจระดับไขมัน ตรวจภาวะสมองเสื่อม ไปจนถึงการตรวจภายในคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในผู้สูงอายุหญิง
ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยหาต้นตอของโรคหรือความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกแล้ว ยังทำให้ง่ายที่จะรักษาให้หายขาดได้หรือบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ สามารถรับมือกับโรคเรื้อรังและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ช่วยคัดกรองความเสี่ยงของโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับผู้ที่ที่มีความเสี่ยงต่อโรคสูงเป็นทุนเดิม เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพและไม่ไปเร่งการพัฒนาโรคให้เกิดขึ้น