ตรวจสุขภาพ ขั้นพื้นฐาน ตรวจอะไรบ้าง เป็นการตรวจหาปัจจัยเสี่ยงอันจะส่งผลทำให้สุขภาพเสียไป ดังนั้นการ ตรวจสุขภาพ จึงเน้นที่การตรวจก่อนการเป็นโรค การตรวจสุขภาพที่ถูกต้องจะทำให้เราได้รู้ว่า “เรายังมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง” เพื่อจะได้ป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค และหากสามารถขจัดได้ก็ไม่เป็นโรค การตรวจพบโรค ตั้งแต่ระยะที่ยังปราศจากอาการ มีประโยชน์ต่อตัวเรามากกว่าการตรวจพบเมื่อมีอาการปรากฏแล้ว
1. การตรวจร่างกาย โดยแพทย์ (Physical Examination) คือการพบแพทย์เพื่อซักถามรวบรวมข้อมูลประวัติสุขภาพ และบันทึกลงใน “สมุดบันทึกสุขภาพ” เมื่อแพทย์ได้วิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยต่างๆ จากประวัติสุขภาพแล้วก็จะได้ดำเนินการ ตรวจร่างกาย รวมทั้งเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะด้านสำหรับเรา เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำสำหรับตัวเรามากยิ่งขึ้น
2. การตรวจวัดพื้นฐานหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index – BMI) ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายเกิน 25 ถือว่าอ้วน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลายอย่าง เช่น ไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดหัวใจตีบตัน ความดันโลหิตสูง อัมพฤต อัมพาต โรคกระดูกและไขข้อ โรคเบาหวาน ฯลฯ
3. วัดความดันโลหิต (Blood Pressure) ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140 /90 มม.ปรอท ถือว่าสูงกว่าปรกติ มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจโต หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบตันหรือแตก ทำให้เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้
4. ตรวจเอ็กซเรย์ปอดและหัวใจ (Chest X-Ray)เพื่อหาสิ่งผิดปรกติในช่องทรวงอก เช่น ก้อนหรือจุดดำในปอดที่สามารถบ่งชี้ถึงโรคต่างๆของปอดรวมถึงวัณโรค อีกทั้งสามารถดูขนาดของหัวใจได้
5. ตรวจเลือด เราสามารถวิเคราะห์ความผิดปรกติได้ โดยเปรียบเทียบค่าที่ได้จากห้องแลปกับค่ามาตรฐาน ถ้าสูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานเป็นภาวะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ข้อมูลนี้ทำให้เรารู้ว่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง เช่น หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด
6. ตรวจสมรรถภาพของไต รู้หรือไม่ว่าไตทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นถ้าไตทำงานผิดปรกติ จะมีของเสียคั่งค้างอยู่ในร่างกายมาก ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในเลือด จากค่า Blood Urea Nitrogen-BUN และ Creatinine ซึ่งเป็นการวัดความสามารถในการขับของเสียไต
7. ตรวจการทำงานของตับ เป็นการตรวจสมรรถภาพการทำงาน และเอนไซม์ ว่ามีระดับความผิดปกติหรือไม่ รวมถึงสามารถบ่งชี้ถึงการบาดเจ็บหรืออักเสบของอวัยวะอันเนื่องมาจากการทานยาบางชนิด นอกจากนี้ ควรตรวจหาไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี (Hepatitis A, B, C) เพราะทำให้ผู้เป็นมีโอกาสเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนทั่วไป หากตรวจไม่พบเชื้อ และไม่พบภูมิคุ้มกัน เราสามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันได้ทัน
8. ตรวจปัสสาวะ (Urine Examination) ช่วยในการหาความผิดปรกติของระบบไตและทางเดินปัสสาวะ