ประกันสุขภาพมีกี่แบบ แตกต่างยังไง? ประกันสุขภาพมีกี่แบบ แต่ละแบบแตกต่างกันยังไง? สำหรับคนที่กำลังสนใจทำประกันสุขภาพ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกแบบไหนดี ก่อนอื่นลองทำความเข้าใจก่อนว่า ประกันสุขภาพเป็นสัญญาเพิ่มเติม (Rider) ที่ทำควบคู่กับประกันชีวิต โดยเน้นคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสุขภาพทั้งการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีความคุ้มครองให้เลือกหลากหลาย โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้
เปรียบเทียบประกันสุขภาพ,แบบประกันสุขภาพ
1. คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและอุบัติเหตุ
เน้นคุ้มครอง ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามจริง จากโรคภัยหรือประสบอุบัติเหตุ มีทั้งแบบผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ารักษา ค่าผ่าตัด เป็นต้น โดยวงเงินที่คุ้มครองจะขึ้นอยู่กับแบบประกันสุขภาพที่เลือก ปัจจุบันมีให้เลือกทั้งแบบ แยกค่าใช้จ่ายเหมาจ่าย และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA)
จุดเด่น : ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง
จุดด้อย : อาจมีส่วนต่างค่าใช้จ่ายในกรณีค่าใช้จ่ายจริงมากกว่าผลประโยชน์ที่เลือก
เหมาะสำหรับ : คนที่ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล หรือคนที่มีสวัสดิการไม่มาก ประกันสุขภาพแบบนี้จะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้
2. คุ้มครองค่าชดเชยรายได้
เน้นคุ้มครองกรณีรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็ผู้ป่วยใน (IPD) จะได้รับ เงินค่าชดเชยรายวัน ตามจำนวนวันที่รักษาตัว โดยจำนวนเงินค่าชดเชยขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่เลือก เช่น ค่าชดเชยวันละ 1,000 บาท เป็นต้น
จุดเด่น : ได้รับเงินค่าชดเชยรายได้เมื่อรักษาตัวในโรงพยาบาล จ่ายตามผลประโยชน์ที่มี
จุดด้อย : ค่าชดเชยที่ได้อาจไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
เหมาะสำหรับ : เป็นส่วนเสริมในกรณีมีประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่กังวลว่าต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่ม สามารถใช้ค่าชดเชยช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้
3. คุ้มครองโรคร้ายแรง
เน้นคุ้มครองกรณีตรวจพบโรคร้ายแรง มีทั้งโรคระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง และระยะลุกลาม โดย จ่ายเงินค่าชดเชยเป็นก้อน หรือแบ่งเป็นงวดๆ แล้วแต่แบบประกันที่เลือก บางแบบอาจคุ้มครองกรณีเสียชีวิตด้วย เช่น จ่ายค่าชดเชยเมื่อตรวจเจอโรคร้าย 1,000,000 บาท เป็นต้น
จุดเด่น : ได้รับเงินค่าชดเชยเป็นเงินก้อนเมื่อตรวจพบโรคร้าย จ่ายตามผลประโยชน์ที่มี
จุดด้อย : ค่าชดเชยที่ได้อาจไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
เหมาะสำหรับ : เป็นส่วนเสริมในกรณีมีประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่กังวลว่าต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มในกรณีป่วยด้วยโรคร้าย สามารถใช้ค่าชดเชยมาช่วยจ่ายได้ทั้งตอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และพักรักษาที่บ้าน
4. คุ้มครองอุบัติเหตุ
เน้นคุ้มครองกรณีประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต โดย จ่ายเงินค่าชดเชยตามตารางผลประโยชน์ที่เลือก
จุดเด่น : ได้รับเงินค่าชดเชยกรณีเกิดอุบัติเหตุ จ่ายตามผลประโยชน์ที่มี
จุดด้อย : ค่าชดเชยที่ได้อาจไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
เหมาะสำหรับ : เป็นส่วนเสริมในกรณีมีประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่แล้ว แต่กังวลว่ากรณีต้องหยุดงาน สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ ทำให้ขาดรายได้ สามารถใช้เงินค่าชดเชยนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้
5. คุ้มครองผู้ชำระเบี้ย
เน้นคุ้มครองผู้จ่ายเบี้ยประกันในกรณีทุพพลภาพ ตรวจพบโรคร้าย หรือเสียชีวิต โดย บริษัทประกันจะชำระเบี้ยประกันชีวิตแทนจนครบกำหนดสัญญา ในขณะที่ผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่ก็ยังคงได้รับความคุ้มครองชีวิตเช่นเดิม
จุดเด่น : ในกรณีผู้ชำระเบี้ยทุพพลภาพ ตรวจพบโรคร้าย หรือเสียชีวิตบริษัทประกันจะชำระเบี้ยประกันชีวิตแทนจนครบกำหนดสัญญา
จุดด้อย : บริษัทประกันจะจ่ายเฉพาะเบี้ยประกันชีวิต แต่ไม่จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ
เหมาะสำหรับ : คนที่จ่ายเบี้ยประกันให้คนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ทำประกันออมทรัพย์ให้ลูก แต่กังวลว่าจะจ่ายเบี้ยไม่ได้เมื่อเกิดเหตุ บริษัทประกันก็จะจ่ายเบี้ยประกันให้จนครบกำหนดสัญญา โดยที่ลูกก็ยังคงได้รับเงินเช่นเดิม แม้พ่อแม่จะไม่ได้ชำระเบี้ยแล้วก็ตาม