ประกันสุขภาพแต่ละประเภทที่ต้องซื้อเอง

ประกันสุขภาพแต่ละประเภทที่ต้องซื้อเอง เมื่อลองดูประกันสุขภาพแบบพื้นฐานกันไปแล้ว ทีนี้ก็ถึงคราวที่ต้องเริ่มควักเงินในกระเป๋าจ่ายเองกันบ้างแล้วครับลองมาดูกันดีกว่าว่าสัญญาประกันสุขภาพตัวไหนเป็นอย่างไรและน่าสนใจแค่ไหนในการวางแผนครับ

ประกันโรคร้ายแรง – เงินน้อยแลกเงินมาก
หากจะซื้อประกันสุขภาพส่วนตัวในงบจำกัด นี่คือสิ่งแรกๆที่คุณควรมองหา เพราะตามหลักการวางแผนการเงิน กรณีที่เหมาะกับการทำประกันที่สุดคือ ความน่าจะเป็นในการเกิดไม่มาก แต่หากเกิดแล้วความเสียหายมีมาก กรณีเจ็บป่วยทั่วๆไป ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ถ้าเกิดถูกหวยอย่างเช่นเป็นมะเร็ง โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมอง ทุพพลภาพ สิ่งเหล่านี้กลับน่ากลัวมากยิ่งกว่ากรณีเสียชีวิต เพราะจะอยู่ก็ไม่สบาย จะไปก็ไม่สะดวก ญาติๆต้องมาคอยดูแล ค่าใช้จ่ายต่างๆมากมาย แต่หากเราได้เงินชดเชยจากประกันโรคร้ายแรงมาบ้าง ก็มีส่วนช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างเยอะครับ เพราะว่าเบี้ยประกันเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้ เริ่มต้นเพียงแค่ไม่ถึง 1% ต่อปี (แต่เบี้ยเพิ่มตามอายุนะครับ ลองเช็คกับบริษัทแต่ละที่ดู) นั่นเท่าคิดง่ายๆว่า จ่ายเงินไป 50 ปีแล้วเกิดได้เคลมขึ้นมา เราก็ยังถือว่าได้ประโยชน์อยู่ดี

วางแผนเลือกประกันสุขภาพ ฉบับคนงบจำกัด
ประกันค่าชดเชย – เอาไว้ช่วยจ่ายกรณีค่าห้องไม่พอ
ตัวนี้น่าจะเข้าใจง่ายที่สุด คือ นอนโรงพยาบาลกี่วัน ก็ได้รับค่าชดเชยตามนั้น ซึ่งในทางปฏิบัติการทำประกันค่าชดเชยก็มักได้ประโยชน์กรณีที่ค่าห้องไม่ค่อยพอ ก็นำเอาเงินส่วนนี้มาจ่ายร่วมได้ แต่สัญญาค่าชดเชยนี้มักถูกเอาไปใช้ผิดๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดด้วยการแกล้งป่วยแล้วให้นอนโรงพยาบาลเพื่อจะได้ประโยชน์จากการนอนโรงพยาบาล ดังนั้นใครที่ทำประกันตัวนี้ไว้ในวงเงินสูงๆ ตัวแทนประกันอาจจะต้องให้ลูกค้าแถลงหลักฐานการรับรายได้ให้กับบริษัทประกันด้วย

วางแผนเลือกประกันสุขภาพ ฉบับคนงบจำกัด
ประกันสุขภาพกรณีผู้ป่วยในและการผ่าตัด – มีไว้อุ่นใจกว่า
สัญญาตัวนี้เป็นสัญญายอดฮิตที่มักมีคนเข้าใจผิดมากที่สุด !!!

อย่างแรกคือ ทำไว้หลายๆบริษัท สามารถเบิกได้ทุกบริษัท อันนี้ต้องเข้าใจใหม่ว่า เบิกได้ทุกที่จริง แต่เบิกได้สูงสุดไม่เกินเงินค่ารักษาที่ได้จ่ายไปตามจริง เช่น ทำไว้ 2 บริษัท วงเงิน บริษัท 2 แสนบาท เกิดเข้าไปผ่าตัดจ่ายจริงไป 1 แสนบาท แล้วตอนเคลมจะไปเบิกทั้งสองบริษัทที่ละ 1 แสนบาท แบบนี้ไม่ได้นะครับ แต่ถ้าหากผ่าตัดไป 2 แสนบาท อย่างนี้เบิกได้ที่ละ 1 แสนบาทได้ไม่มีปัญหา

อย่างที่สองคือ นอนโรงพยาบาลได้เลยไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น ต้องเข้าใจว่าสัญญาประเภทนี้ก็ยังมีเพดานวงเงินเป็นตัวกำกับเอาไว้อยู่ ดังนั้น หากทำวงเงินเอาไว้จำกัด แต่จะไปนอนโรงพยาบาลเอกชนแพง แบบนี้วงเงินก็คงไม่พอครับ อย่างไรก็ดี อยากให้ลองดูว่าโรงพยาบาลที่เรามีโอกาสได้เข้ารักษาบ่อยๆเป็นที่ใด จะได้เลือกแผนค่ารักษาได้ตรงครับ

อย่างที่สามคือ ผู้ป่วยนอกเบิกได้ อันนี้เป็นความจริงส่วนเดียว คือกรณีที่เกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินมา สามารถเบิกได้ครับ แต่หากเป็นเหตุเรื่องเจ็บป่วยอย่างเช่นท้องเสีย แล้วมาหาหมอ จ่ายยา กลับบ้าน แบบนี้ไม่ได้นะครับ

อย่างไรก็ตาม การรักษาในโรงพยาบาล ยังเป็นสัญญาที่น่าสนใจเพราะลองนึกภาพว่าเวลาที่เราเจ็บป่วยถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรักษา หรือเพื่อผ่าตัดจริงๆ มันจะต้องเกิดค่ารักษาเป็นจำนวนมากแน่ๆ (หากเทียบกับไปหาหมอแล้วกลับบ้าน) ซึ่งปกติแล้วเราก็คงไม่ได้เจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ ดังนั้นตามหลักการทำประกัน เกิดไม่บ่อย แต่เกิดแล้วเสียหายมาก ยังไงก็สมควรทำประกันครับ แต่หากใครที่คิดว่างไม่พอจ่ายเบี้ยจริง ก็อาจลองทางเลือกไปใช้บัตรทองหรือประกันสังคมได้