ประกันสุขภาพ เลือกอย่างไรให้ตอบโจทย์ ‘อโรคยา ปรมา ลาภา’ หรือ ‘ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ’ นั้นน่าจะเป็นชีวิตที่ปรารถนาของใครหลายๆ คน เพราะหากเราต้องการมีชีวิตที่ดีและมีความสุข การมีสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้คุณสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
อย่างไรก็ตามไม่ว่าคุณจะดูแลตัวเองอย่างดีเพียงใด คุณก็ไม่สามารถแน่ใจหรือ การันตีได้ว่าสักวันหนึ่งคุณจะไม่เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เพราะความเสื่อมของร่างกายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากๆ ที่สำคัญเดี๋ยวนี้ค่าห้อง ค่าหมอ ค่ายา แพงอย่าบอกใครเชียว และไม่สามารถต่อรองได้อีกต่างหาก หากไม่อยากเปลี่ยนให้ฐานะจนลงเพราะค่ารักษาพยาบาล คุณควรมีประกันสุขภาพอย่างน้อยสักฉบับก็ยังดี เพราะประกันสุขภาพจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ หากเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไม่คาดฝัน
แล้วเราจะเลือกประกันสุขภาพอย่างไรดี?
ในการเลือกซื้อประกันสุขภาพ สิ่งที่คุณต้องพิจารณา คือ สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่คุณมีอยู่ เช่น สวัสดิการประกันสังคมและสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างทำให้เพียงพอกับความต้องการของคุณหรือไม่ โดยลองคำนวณจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลหากคุณจำเป็นต้องเข้าใช้บริการของโรงพยาบาลที่คุณใช้บริการอยู่เป็นประจำ คุณก็จะมีตัวเลขค่าใช้จ่ายโดยประมาณว่าหากเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้นๆ จะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ จากนั้นจึงไปเปรียบเทียบกับสวัสดิการที่คุณมีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ คุณอาจจะพิจารณาซื้อประกันสุขภาพเพิ่มในส่วนที่เกินจากสวัสดิการที่มีอยู่ก็ได้ อย่างไรก็ตามในบางครั้ง หากเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บธรรมดา สวัสดิการที่มีอยู่ก็อาจเพียงพอกับความต้องการ แต่ถ้าเกิดโชคร้ายเจ็บไข้ด้วยโรคร้ายแรง และเป็นโรคที่ต้องมีการรักษาติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูง คุณอาจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการทำประกันโรคร้ายแรงเพิ่มเติม
ประกันสุขภาพ ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ “ซื้อแบบเดี่ยว” และ “ซื้อแบบพ่วง” โดยแบบ “ซื้อเดี่ยว” สัญญาจะมีผลบังคับปีต่อปี ไม่ต้องซื้อพ่วงกับสัญญาประกันชีวิต มีการพิจารณาให้ในทุกๆ ปีและเบี้ยประกันจะถูกกว่า ส่วน “ซื้อพ่วง” คือ พ่วงกับสัญญาประกันชีวิต ซึ่งถือเป็นสัญญาหลัก สัญญามีผลบังคับต่อเนื่องตามสัญญาหลัก และสามารถซื้อได้ต่อเนื่องไม่เกินอายุรับประกันของสัญญาหลัก ดังนั้นในการซื้อพ่วงกับสัญญาหลัก คุณควรเลือกซื้อสัญญาหลักที่มีความคุ้มครองค่อนข้างยาว อย่างน้อยให้มีระยะเวลาคุ้มครองยาวพอๆ กับความคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติม เช่น ประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองถึงอายุ 80 ปี สัญญาหลักก็ควรมีความคุ้มครองอย่างน้อยถึงอายุ 80 ปีเช่นกัน เพื่อที่เราจะได้สามารถซื้อประกันสุขภาพได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 80 ปี
ข้อควรพิจารณาอีกประการสำหรับการเลือกซื้อประกันสุขภาพก็คือ คุณควรจะทำประกันสุขภาพให้มีความคุ้มครองอย่างเหมาะสมตั้งแต่คุณยังมีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่ บริษัทประกันถึงจะพิจารณารับประกัน เพราะถ้าหากคุณเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีโรคประจำตัวไปแล้ว ถึงตอนนั้นหากนึกอยากทำประกันสุขภาพ ก็คงไม่มีบริษัทประกันบริษัทไหนที่จะรับประกัน เพราะหากจะเปรียบเทียบไป ก็เหมือนกับวันนี้ถ้าคุณขับรถยนต์โดยที่คุณไม่ได้ทำประกันรถไว้ แล้วบังเอิญโชคร้ายขับรถไปชน หรือเกิดอุบัติเหตุ ถึงตอนนั้นคุณนึกอยากทำประกันรถ ก็คงไม่มีบริษัทประกันที่ไหนจะยอมรับประกัน จนกว่าคุณจะไปซ่อมรถของคุณให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยมาขอซื้อประกันอีกที ฉันใดก็ฉันนั้นประกันสุขภาพก็เช่นเดียวกัน
ดังนั้นจุดที่ทำให้ยากในการตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมจึงอยู่ที่ประกันสุขภาพเป็นการจ่ายเบี้ย ‘แบบทิ้งเปล่า’ ปีต่อปี (เหมือนเบี้ยประกันรถยนต์) ถ้าปีไหนไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจนต้องหามเข้าโรงพยาบาล ก็เหมือนกับคุณได้ทิ้งค่าเบี้ยประกันสุขภาพไปฟรีๆ จึงทำให้เกิดความเสียดาย แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เหตุการณ์ไม่คาดฝัน คือ เหตุการณ์ที่คุณไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงเป็นการยากที่คุณจะประเมินผลกระทบหรือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ คุณจะประเมินค่าเสียหายนั้นๆ ได้ก็ต่อเมื่อมันได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งถึงตอนนั้นหากนึกอยากทำประกันก็คงไม่ทันเสียแล้ว เพราะเหตุได้เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้คุณต้องอย่าลืมว่าการซื้อประกันสุขภาพ ต้องใช้ ‘สุขภาพที่ดี’ ซื้อเท่านั้น หากวันนี้คุณยังอายุน้อย ยังมีสุขภาพที่แข็งแรง และยังทำงานอยู่ในบริษัทที่คุณคิดว่ามีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่เพียงพอ จึงทำให้นิ่งนอนใจและคิดว่ายังไม่ต้องซื้อประกันสุขภาพก็ได้ เอาไว้รอเวลาที่ใกล้เกษียณอายุแล้วค่อยมาพิจารณาตัดสินใจกันอีกที อาจจะไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องเท่าไหร่นัก เพราะคุณไม่อาจรู้ได้เลยว่าจากวันนี้จนถึงวันที่คุณใกล้เกษียณอายุ อาจจะมีโอกาสเป็นโรคบางอย่างขึ้น และกลายเป็นโรคประจำตัวซึ่งในท้ายที่สุดบริษัทประกันก็อาจจะพิจารณาไม่รับประกันสุขภาพก็เป็นได้ ซึ่งถึงตอนนั้นเงินเก็บที่เราอุตส่าห์เตรียมไว้เพื่อเป็นกองทุนเกษียณอายุของเรานั้นก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะคุณจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมากโดยไม่ทันตั้งตัว