ประกันสุขภาพกรณีผู้ป่วยในและการผ่าตัด – มีไว้อุ่นใจกว่า เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ แต่เราสามารถวางแผนเตรียมรับมือกับเรื่องร้ายๆได้ ด้วยการย้อนกลับมามองดูที่ตัวเองแล้วดูว่า หากวันนี้ เกิด… กับเรา เราจะสามารถที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้เพียงใด
ประกันสุขภาพ กรณีผู้ป่วยในและการผ่าตัด มีไว้อุ่นใจกว่า
การเตรียมแผนรับมือกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องไม่มองข้าม วันนี้ลองมานั่งวิเคราะห์ดูครับ ว่าเราสามารถจัดการเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนกัน
สัญญาตัวนี้เป็นสัญญายอดฮิตที่มักมีคนเข้าใจผิดมากที่สุด !!!
อย่างแรก คือ ทำไว้หลายๆบริษัท สามารถเบิกได้ทุกบริษัท อันนี้ต้องเข้าใจใหม่ว่า เบิกได้ทุกที่จริง แต่เบิกได้สูงสุดไม่เกินเงินค่ารักษาที่ได้จ่ายไปตามจริง เช่น ทำไว้ 2 บริษัท วงเงิน บริษัท 2 แสนบาท เกิดเข้าไปผ่าตัดจ่ายจริงไป 1 แสนบาท แล้วตอนเคลมจะไปเบิกทั้งสองบริษัทที่ละ 1 แสนบาท แบบนี้ไม่ได้นะครับ แต่ถ้าหากผ่าตัดไป 2 แสนบาท อย่างนี้เบิกได้ที่ละ 1 แสนบาทได้ไม่มีปัญหา
อย่างที่สอง คือ นอนโรงพยาบาลได้เลยไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น ต้องเข้าใจว่าสัญญาประเภทนี้ ก็ยังมีเพดานวงเงินเป็นตัวกำกับเอาไว้อยู่ ดังนั้นหากทำวงเงินเอาไว้จำกัด แต่จะไปนอนโรงพยาบาลเอกชนแพง แบบนี้วงเงินก็คงไม่พอครับ อย่างไรก็ดีอยากให้ลองดูว่าโรงพยาบาลที่เรามีโอกาสได้เข้ารักษาบ่อยๆเป็นที่ใด จะได้เลือกแผนค่ารักษาได้ตรงครับ
อย่างที่สาม คือ ผู้ป่วยนอก เบิกได้ อันนี้เป็นความจริงส่วนเดียว คือกรณีที่เกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินมาสามารถเบิกได้ครับ แต่หากเป็นเหตุเรื่องเจ็บป่วยอย่างเช่นท้องเสีย แล้วมาหาหมอจ่ายยาแล้วกลับบ้านแบบนี้ไม่ได้นะครับ
อย่างไรก็ตาม การรักษาในโรงพยาบาลยังเป็นสัญญาที่น่าสนใจ เพราะลองนึกภาพว่าเวลาที่เราเจ็บป่วยถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรักษา หรือเพื่อผ่าตัดจริงๆ มันจะต้องเกิดค่ารักษาเป็นจำนวนมากแน่ๆ (หากเทียบกับไปหาหมอแล้วกลับบ้าน) ซึ่งปกติแล้วเราก็คงไม่ได้เจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ ดังนั้นตามหลักการทำประกัน เกิดไม่บ่อย แต่เกิดแล้วเสียหายมากยังไงก็สมควรทำประกันครับ แต่หากใครที่คิดว่างไม่พอจ่ายเบี้ยจริงก็อาจลองทางเลือกไปใช้บัตรทองหรือประกันสังคมได้ครับ
ประกันแบบ OPD – มีเงินเหลือค่อยซื้อนะ
“OPD เบิกได้มั้ย” ตัวแทนประกันหลายๆท่านน่าจะได้รับคำถามนี้บ่อย ต้องบอกก่อนว่าปกติเวลาไปโรงพยาบาลจะมีอยู่ 2 กรณี คือผู้ป่วยใน หรือ IPD คือต้องมีการนอนพักค้างคืนในโรงพยาบาล ส่วนมากกรณีนี้มักเป็นในกรณีป่วยหนักๆหรือต้องผ่าตัด กับอีกแบบหนึ่งคือ ผู้ป่วยนอกหรือ OPD ซึ่งไม่ได้มีการพักค้างคืน หาหมอ ดูอาการ รับคำปรึกษา ทำการรักษา จ่ายยา จ่ายเงิน กลับบ้าน ซึ่งประกันแบบผู้ป่วยนอกมักจะให้ในวงเงินจำกัด เช่น ครั้งละ 500-1,000 บาท โดยเบี้ยประกันมักจะคิดอยู่ประมาณ 4-8 เท่าของวงเงินของ OPD แต่ละครั้ง
ซึ่งในทางปฏิบัติ การทำประกันแบบ OPD จะได้ประโยชน์กรณีทำกันเป็นหมู่ แต่หากทำแบบรายเดี่ยวแล้วไม่ได้ไปพบหมอ มักไม่ค่อยคุ้มค่า เพราะสวัสดิการเทียบกับเบี้ยประกันที่จ่ายถือว่าได้ค่อนข้างน้อย แต่ที่คนทำประกันมักถามหาบ่อยๆ เพราะคิดว่าน่าจะมีโอกาสได้ใช้บ่อย ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทประกันก็คิดแบบนั้น เช่นกัน บริษัทก็เลยตั้งเบี้ยประกันไว้ค่อนข้างสูง แต่หากลองคิดดูดีๆว่าปีๆหนึ่งถ้าเราไม่ได้ไปหาหมอบ่อยๆ บางทีเก็บเงินที่จะจ่ายเบี้ยแบบ OPD เอาไว้กับตัวเองแล้วเอาไปจ่ายเวลาหาหมอก็อาจจะคุ้มกว่าก็ได้นะครับ