ผิวขาว กับครีมกันแดด ต้องใช้นะเธอ ! ถ้าไม่อยากเจอมะเร็งผิวหนัง

ผิวขาว กับครีมกันแดด ต้องใช้นะเธอ ! ถ้าไม่อยากเจอมะเร็งผิวหนัง

แสงแดดมีประโยชน์แต่ก็มีโทษมหันต์หากได้รับในปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะเมืองไทยเมื่อเข้าสู่หน้าร้อนอุณหภูมิที่พุ่งสูง พร้อมกับแสงแดดที่แผดเผาในทุกๆ วัน ทำให้เกิดปัญหาผิวหนังแดงไหม้ ผิวคล้ำ หรืออาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง จึงจำเป็นต้องป้องกันแสงแดดด้วยวิธีต่างๆ เพื่อสุขภาพผิวที่ดี

เคล็ดลับ ผิวขาว กับครีมกันแดด

ช่วงเวลาที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังมากที่สุดคือ ช่วงแดดจัดๆ ตั้งแต่เวลา 10.00-15.00 น.โดยอันตรายจากแสงแดดที่สังเกตได้ เช่น มีอาการผิวไหม้แดงแสบร้อนทุกครั้งที่ออกแดด แสงแดดประกอบด้วยแสงหลากหลายชนิด ซึ่งแสงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังมากที่สุด คือ แสงอัลตราไวโอเลต หรือที่เรียกว่า UV มีผลทำให้ผิวแดงไหม้ ผิวคล้ำ ผิวแห้งกร้าน เป็นฝ้า ตกกระ แก่ก่อนวัย และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งของผิวหนังได้ในระยะยาว

แสง UV ที่ส่องผ่านมายังโลกและเป็นอันตรายต่อผิวมนุษย์สามารถแยกได้เป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือแสง UVA และแสง UVB  ซึ่งแสง UVA มีช่วงคลื่นยาวกว่า UVB สามารถผ่านทะลุเข้าไปถึงชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น ผิวคล้ำ เป็นฝ้ากระ และทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนแสง UVB เป็นแสงช่วงคลื่นสั้นกว่า UVA ทำให้เกิดผิวไหม้แดด จะมีอาการผิวบวมแดงและอาจพองปวดแสบร้อน ผิวไหม้และแห้งกร้าน ผิวเหี่ยวย่น คล้ำ เป็นฝ้ากระ ซึ่งเมื่อผิวถูกแดดเผาเป็นประจำจะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง วิธีป้องกันควรหลีกเลี่ยงการตากแดด หากจำเป็นต้องตากแดดควรใส่เสื้อแขนยาวคอปิด กางร่มหรือใส่หมวกปีกกว้าง และทาครีมกันแดดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพราะใต้ร่มไม้หรือชายคาบ้าน มีโอกาสได้รับรังสี UV เหมือนกับเวลาที่อยู่กลางแดด เนื่องจากพื้นคอนกรีต พื้นน้ำ พื้นทราย สามารถสะท้อนรังสี UV เข้าสู่ผิวกายได้

สำหรับการเลือกใช้ครีมกันแดดควรเลือกชนิดที่เหมาะกับผิวและมีประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดอย่างแท้จริง ตัวเลข SPF (Sun Protection Factor) คือ ความสามารถของครีมกันแดดที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการแดงไหม้ซึ่งเกิดจาก UVB โดยจะแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดเป็นตัวเลข เช่น SPF 15, 30 เป็นต้น ถ้า SPF 15 หมายความว่า คนๆ หนึ่งตากแดด 30 นาทีแล้วเกิดผิวแดง ไหม้แสบ แต่ถ้าทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 จะสามารถตากแดดได้นานเป็น 15 เท่าของ 30 นาที หรือ ประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่ง โดยไม่ก่อให้เกิดอาการแดงที่ผิวหนัง

ที่สำคัญต้องเลือกครีมกันแดดที่สามารถป้องกัน UVAได้ โดยต้องมีส่วนผสมของสารกันแดดหรือสารกันแดดที่สะท้อนแสง ซึ่งทาแล้วอาจจะทำให้หน้าขาวบ้าง แต่ข้อดีคือไม่มีอาการระคายเคืองและไม่แพ้  ทั้งนี้การทาครีมกันแดดควรเริ่มทาอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เรียนว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬากลางแจ้ง เพราะแสงอัลตราไวโอเลตจะมีผลเสียต่อผิวหนังแบบสะสม ดังนั้นการทาครีมกันแดดจึงเป็นเกราะป้องกันผิวหนังที่ดี

 

 

ครีมกันแดดโดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภท

ครีมกันแดดแบบกายภาพ หรือ Physical Sunscreen

ครีมกันแดดแบบกายภาพ หรือ Physical Sunscreenเป็นครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุธรรมชาติ อย่างเช่น ไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide) หรือซิงก์ออกไซด์ (Zinc oxide) ซึ่งเป็นส่วนผสมที่จะเคลือบอยู่บนผิวเพื่อบล็อกหรือสะท้อนรังสียูวีออกไป ส่วนใหญ่มักจะทิ้งคราบขาวบนผิวที่ล้างออกได้ยาก และอาจมีโอกาสอุดตันรูขุมขนได้

 

 

ครีมกันแดดแบบเคมี หรือ Chemical Sunscreen

ครีมกันแดดแบบเคมี หรือ Chemical Sunscreen ซึ่งมีส่วนผสมของสารเคมีตามชื่อของมัน อย่างเช่นอ็อกซีเบนโซน (Oxzbenzone) หรือ อ็อกติโนเซท (Octinoxate) และอื่นๆ สารเคมีเหล่านี้จะดูดซึมลงไปในผิว และทำหน้าที่ในการกรองรังสียูวี ทำให้มันมีประสิทธิภาพในการปกป้องเซลล์ผิวที่อยู่ในชั้นลึกได้ดีกว่า แต่ก็เนื่องจากการที่ผิวดูดซึมสารเคมีเหล่านี้ลงไป มันจึงอาจมีโอกาสที่จะเกิดอาการระคายเคือง ไปจนถึงเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาได้

ดังนั้น การปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยครีมกันแดดแบบเคมีต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของร่างกายที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมีที่ผสมอยู่ในครีมกันแดด และนี่คือรายการของสารเคมีที่มักใช้กันในครีมกันแดดแบบเคมี และเป็น “ผู้ต้องสงสัย” ว่าอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ ซึ่งคุณควรพยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด

ควรอ่านสารประกอบในครีมกันแดดก่อนซื้อ !

แม้ครีมกันแดดจะมีประโยชน์แต่ก่อนเลือกซื้อคุณควรอ่านฉลากของผลิตภัณฑ์ให้ดีเสียก่อน หากมีสารต่อไปนี้ให้หลีกเลี่ยงที่จะซื้อมาใช้ หรือถ้ามีสารดังกล่าวก็ควรมีน้อยที่สุดเพื่อความปลอดภัย

สาร อ็อกซีเบนโซน อันตรายที่มาพร้อมการปกป้อง

อ็อกซีเบนโซน (Oxzbenzone) เป็นสารกันแดดที่ค่อนข้างมีความเสถียร แต่ประสิทธิภาพในป้องกันแสงแดดไม่ดีนัก ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารนี้จึงต้องใช้ความเข้มข้นมาก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องแสงแดด แต่ปัญหาของสารชนิดนี้คือสามารถซึมซาบเข้าสู่ผิวได้ดี ดังนั้น เมื่อเราทาครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของของอ็อกซีเบนโซนในความเข้มข้นสูงอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาว นักวิทยาศาสตร์คาดว่า การสะสมของอ็อกซีเบนโซน อาจส่งผลต่อการยับยั้งฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย รวมไปถึงส่งผลเสียต่อระบบต่อมไร้ท่อ ดังนั้น การหลีกเลี่ยงครีมกันแดดที่มีสารดังกล่าวเป็นส่วนผสม น่าจะเป็นทางออกของการการป้องกันสุขภาพที่ดีของคุณ

อ็อกติโนเซท กระตุ้นผิวโรยราก่อนวัย

อ็อกติโนเซต (Octinoxate) เป็นส่วนประกอบของสารกันแดดที่พบได้ในกันแดดทั่วไปที่ขายตามท้องตลาด ซึ่งตามปกติแล้วครีมกันแดดมีส่วนช่วยในการปกป้องผิวจากไม่ให้เกิดริ้วรอย แต่สำหรับครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารอ็อกติโนเซต อาจแตกต่างออกไป เพราะนักวิทยาศาสตร์บางส่วนเชื่อว่า ผลข้างเคียงของสารดังกล่าว คือการกระตุ้นให้ผิวพรรณเกิดความโรยรา ซึ่งเป็นต้นเหตุของริ้วรอยบนผิวก่อนวัยอันควร หากไม่อยากผิวแก่ก่อนวัยก็ควรระวังสารเคมีชนิดนี้ให้ดั

เรตินิน ปาลมิเตท อาจก่อให้เกิดมะเร็ง

เรตินิน ปาลมิเตท (Retinyl Palmitate) คืออนุพันธ์ของวิตามินเอ เป็นสารเคมีที่นำมาใช้ในครีมกันแดดเพื่อช่วยในการลดเลือนริ้วรอยไม่ใช่สารที่มีคุณสมบัติในการกันแดดจึงไม่ใช่ส่วนประกอบที่สำคัญ ทำให้หลายบริษัทยกเลิกการผสมสารดังกล่าวลงในครีมกันแดด มีเพียงหนึ่งในสามบริษัทผลิตครีมกันแดดเท่านั้นที่ยังใช้สารชนิดนี้อยู่ ซึ่งผลข้างเคียงของการใช้สารเรตินิน ปาลมิเตท คือความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากการทดลองใช้สารนี้ในหนูพบว่าสารเนตินิน ปาลมิเตท มีความเชื่อมโยงกับการเกิดมะเร็งในสิ่งมีชีวิต การไม่ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าวจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการมีสุขภาพที่ดี

 

โฮโมซาเลต สะสมไว้กลายเป็นพิษ

 

โฮโมซาเลต (Homosalate) เป็นส่วนผสมที่ทำให้ครีมกันแดดซึมซาบลงสู่ผิวได้ดี แต่เมื่อครีมกันแดดซึมซาบลงสู่ผิวแล้ว เจ้าสารตัวนี้จะทำหน้าที่เก็บสะสมสารเคมีต่างๆ ไว้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ร่างกายของเราไม่สามารถกำจัดสารนี้ให้หมดไปได้ เมื่อใช้สารนี้ในระยะยาว อาจเกิดการสะสมสารนี้จนกลายเป็นสารพิษ ที่ส่งผลเสียต่อฮอร์โมนในร่างกาย ส่วนในรายที่มีประวัติแพ้ แอสไพริน (Aspirin) หรือ กรดซาลิไซซิก (Salicylic acid) อาจเกิดอาการแพ้ได้ เนื่องจากเป็นสารในกลุ่มเดียวกัน ถึงแม้อันตรายจากสารนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการก่อผลเสีย แต่การป้องกันไว้ก่อนก็คงดีกว่าการแก้ไขแน่นอน

ออคโตไคลีน ผลิตอนุมูลร้ายทำลายเซลล์ผิว

 

ออคโตไคลีน (Octocrylene) เป็นส่วนประกอบที่ทำหน้าที่ดูดซับรังสียูวีได้ดี จึงนิยมนำมาใช้ในครีมกันแดด แต่ผลข้างเคียงของเจ้าสารป้องกันแดดชนิดนี้ก็คือ การผลิตอนุมูลอิสระที่ทำร้ายเซลล์ผิว เมื่อผิวของเราดูดซับสารดังกล่าวเข้ามาในร่างกายมากเกินไป จะทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ นอกจากนั้นออคโตไคลีนยังเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม การเลี่ยงการใช้กันแดดที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าวนับเป็นการรักษาสุขภาพของคุณและรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

พาราเบน สารอันตรายใกล้ตัว

พาราเบน (Paraben) เป็นสารกันเสียที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหลายชนิด รวมไปถึงครีมกันแดด เนื่องจากเจ้าสารตัวนี้มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ อย่างแบคทีเรียและเชื้อราได้ดี ทั้งยังได้รับการรับรองถึงความปลอดภัย หากใช้ในปริมาณเหมาะสม แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสารนี้ปลอดภัย เพราะนักวิทยาศาสตร์ยังคงมีข้อสงสัยในสารดังกล่าว เนื่องจากเป็นสารอันตรายที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และเป็นสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งมีผลรบกวนฮอร์โมนในร่างกาย จึงเริ่มมีการรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้สารดังกล่าว และในปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายก็ได้หันมาให้ความสนใจต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้น และเริ่มงดใช้สารพาราเบน หากเราต้องการทราบว่าสินค้าชนิดใดปลอดจากสารพาราเบน ให้สังเกตฉลากที่ระบุว่า ไม่มีสารพาราเบน (Paraben free) ผู้ใช้ย่อมมั่นใจในความปลอดภัยและสบายใจได้แน่นอน

ทั้งนี้เราควรเลือก ครีมกันแดด ที่ดี เพื่อความปลอดภัย ปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายดังกล่าว อ่านฉลากสักนิดเมื่อคิดจะซื้อครีมกันแดด เพื่อให้คุณปลอดภัยจากทั้งแสงแดดและสารเคมี และควรทาครีมกันแดดที่ตัวและหน้าก่อนทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือโดนแสงแดด ราว 15-30 นาที และควรทาซ้ำทุกๆ 4-6 ชั่วโมงหากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งตลอดวันนะคะ