วางแผนเลือก ประกันสุขภาพ ฉบับคนงบจำกัด

วางแผนเลือก ประกันสุขภาพ ฉบับคนงบจำกัด

วางแผนเลือกประกันสุขภาพ ฉบับคนงบจำกัด ในเวลาที่เคราะห์หามยามร้าย โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ แต่เราสามารถวางแผนเตรียมรับมือกับเรื่องร้ายๆได้ ด้วยการย้อนกลับมามองดูที่ตัวเอง แล้วดูว่า หากวันนี้ เกิด… กับเรา เราจะสามารถที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้เพียงใด การเตรียมแผนรับมือกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องไม่มองข้าม วันนี้ลองมานั่งวิเคราะห์ดูครับ ว่าเราสามารถจัดการเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนกัน

บัตรทอง 30 บาท – สิทธิ์เล็กน้อยที่ไม่ควรมองข้าม
ขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน หากไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม หรือระบบข้าราชการ ทุกคนจะต้องมีสวัสดิการนี้ครับ แค่ใส่เลขประจำตัวประชาชนเข้าไป ก็ได้แล้วครับ แน่นอนว่าระบบนี้เป็นระบบขั้นพื้นฐาน ดังนั้นการรับบริการอาจจะมีขั้นตอนนิดนึงครับ แต่เชื่อว่ายังไงระบบสวัสดิการนี้ก็น่าจะได้รับการพัฒนาให้ดีมากขึ้นไปเรื่อยๆครับ

ประกันสังคม – สวัสดิการพรีเมี่ยมในราคาย่อมเยาว์
สวัสดิการประกันสังคมเป็นสวัสดิการที่ลูกจ้างทุกคนที่อยู่ในระบบจะต้องทำครับ โดยเก็บเงินจากลูกจ้างส่วนหนึ่งและนายจ้างอีกส่วนหนึ่งส่งให้กับกองทุนนี้ โดยสิทธิ์ที่จะได้จากประกันสังคมไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาพยาบาลและอุบัติเหตุนะครับ แต่ยังได้รับผลประโยชน์ในกรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน ได้อีกด้วย เรียกว่าผลประโยชน์แบบ 7 in 1 เลยทีเดียว (มาตรา 33)

เท่านั้นยังไม่พอ แนวทางหนึ่งสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนสวัสดิการตอนเกษียณ ก็สามารถใช้ประกันสังคมวางแผนสวัสดิการให้กับตัวเองได้ นั่นคือ การย้ายตัวเองมาส่งเงินเข้าประกันสังคมในมาตรา 39

การส่งประกันสังคมแบบนี้ จะทำให้เราสามารถมีสวัสดิการได้เกือบๆ เท่ากับกรณีทำงานเป็นลูกจ้างเลย เพียงแต่ว่า มีข้อแนะนำนิดนึงสำหรับผู้ที่เข้าวิธีนี้ เพราะว่าจะต้องส่งเงินเข้าระบบนี้จะเป็นแบบได้อย่างเสียอย่าง เพราะเลือกที่สร้างสวัสดิการสุขภาพให้กับตัวเอง ก็จะไม่ได้สิทธิ์ในเงินบำนาญของประกันสังคมครับ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราหยุดส่ง การจ่ายเงินบำนาญของประกันสังคมก็จะทำงาน และสิทธิประกันสุขภาพก็จะหยุดลง

แต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะว่าเราส่งเงินเข้าระบบเพียงเดือนละ 432 บาท หรือคิดเป็นรายปีก็ 5,184 บาท ลองคิดเล่นๆ ถ้าเทียบกับการทำประกันสุขภาพแบบทั่วๆ ไป ถือว่าจ่ายน้อยกว่ามากครับ และที่สำคัญคือ จ่ายเงินเท่าเดิม ไม่เพิ่มเบี้ย (เท่าที่ทราบ ณ ตอนนี้นะครับ) ไม่ว่าจะอายุมากเท่าใดก็ตาม

สวัสดิการเพิ่มเติมจากที่ทำงาน (ประกันสุขภาพ/ประกันอุบัติเหตุ)
ถ้าเป็นผู้ที่ทำงานรัฐวิสาหกิจ แต่ละที่จะมีระเบียบในการเบิกจ่ายแตกต่างกันไปครับ แต่หลักๆก็จะได้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ ถ้าเข้าไปรักษาเอกชน ก็อาจจะมีการร่วมออกเงินค่ารักษาให้บางส่วน แต่หากทำงานในภาคเอกชน ส่วนใหญ่ก็อาจจะทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมให้ หรืออาจจะทำประกันอุบัติเหตุเพิ่มเติมให้กับลูกจ้าง อันนี้ใครได้มากได้น้อยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับแต่ละที่ทำงาน แต่ที่แน่ๆคือสวัสดิการนี้เป็นสวัสดิการที่ “ติดเก้าอี้” หากวันใดวันหนึ่งที่เราลุกออกจากตำแหน่งนี้ไป สวัสดิการก็ไม่ได้ตามไปด้วยแต่อย่างใด