วางแผนเลือกประกันสุขภาพ

วางแผนเลือกประกันสุขภาพ การดำเนินชีวิตในแต่ละวันคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบเจอกับสิ่งต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของเรา เช่น ฝุ่นละออง มลพิษทางอากาศ สารพิษเจือปนในอาหาร เป็นต้น เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายและสะสมในปริมาณที่มาก เกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือแม้กระทั่งการพักผ่อนไม่เพียงพอ อันเกิดจากการทำงานหักโหมเป็นเวลานานๆ

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ตามมาได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้ป่วยก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว จึงอาจทำให้ผู้ป่วยหรือครอบครัวของผู้ป่วยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงมาก​เกินไป

ดังนั้นการวางแผนในการดูแลสุขภาพไว้ก่อน ย่อมเป็นการช่วยเพิ่มเกราะป้องกันให้กับเราได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันวงการประกันภัยต่างเริ่มคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้านสุขภาพใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค จึงทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการทำประกันสุขภาพกับบริษัทฯ ที่ไว้วางใจ และได้รับความคุ้มครองที่ตรงต่อความต้องการ เพื่อวางแผนรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่จะเลือกซื้อประกันสุขภาพอย่างไรให้อุ่นใจ​เรามีเคล็ดไม่ลับในการเลือกซื้อมานำเสนอ ดังนี้

1. ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล
ควรสำรวจค่าใช้จ่ายหลักๆ ของโรงพยาบาลที่ท่านต้องการจะเข้าทำการรักษา เช่น ค่าห้อง ค่าผ่าตัด ค่ารักษาโรคร้ายแรงเพื่อจะได้ทราบเบื้องต้น ว่าผลประโยชน์ความคุ้มครองเท่าไหร่ที่น่าจะเหมาะสมและเพียงพอกับท่าน

2. สวัสดิการที่ท่านมีเพียงพอหรือไม่
สำหรับท่านที่มีงานประจำ อาจจะมีสวัสดิการประกันกลุ่มที่บริษัททำให้ แต่ผลประโยชน์ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลอาจไม่เพียงพอถ้าต้องเข้ารับการรักษาครั้งใหญ่ ดังนั้นท่านควรดูส่วนที่ขาด แล้วซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมในส่วนนั้น เช่นถ้าบริษัทให้สวัสดิการค่าห้อง 3,000 บาท วงเงินความคุ้มครอง 200,000 บาท แต่โรงพยาบาลที่ท่านใช้บริการ มีค่าห้องเริ่มต้น 4,500 บาทและการรักษาโรคร้ายแรงมีค่าใช้จ่ายประมาณ 500,000 บาท ท่านก็ควรเลือกซื้อความคุ้มครองค่าห้อง 1,500 บาท และวงเงินความคุ้มครอง 300,000 บาท เพื่อเติมเต็มให้เพียงพอ แต่อย่าลืมว่าเมื่อท่านลาออกจากงาน สวัสดิการดังกล่าวจะหายไปทันทีท่านอาจต้องทำการพิจารณาปรับเพิ่มผลประโยชน์ความคุ้มครองใหม่เพื่อให้เพียงพอต่อการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับท่านที่ทำงานอิสระ หรือเป็นเจ้าของธุรกิจ อาจจะไม่มีสวัสดิการใดๆ ยิ่งจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพเพื่อบริหารจัดการด้านความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเลือกซื้อความคุ้มครองตามผลประโยชน์ที่ท่านต้องการใช้ และการทำประกันสุขภาพที่ดีที่สุด คือทำในตอนที่ท่านสุขภาพแข็งแรง ยังไม่ป่วย เพื่อให้ท่านได้รับความคุ้มครองครอบคลุมสูงสุด หากท่านทำตอนที่มีอาการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรง อาจทำให้ท่านติดข้อยกเว้นโรคนั้นๆ ได้

3. เงื่อนไขข้อยกเว้นต่างๆ ในกรมธรรม์
ผู้ซื้อประกันสุขภาพส่วนใหญ่อาจมองเพียงแค่เรื่องของราคาและวงเงินผลประโยชน์ความคุ้มครอง แต่ละเลยในการศึกษารายละเอียดเงื่อนไขข้อยกเว้นต่างๆ ในกรมธรรม์ ซึ่งอาจจะมีประเด็นในภายหลังจากการสมัครทำประกันสุขภาพเรียบร้อยแล้ว หากท่านไม่ศึกษาในรายละเอียดให้ดี เงื่อนไขนั้นอาจเป็นข้อยกเว้นที่ไม่คุ้มครองท่าน หรือหากในปีต่ออายุท่านมีการเคลมที่สูง เนื่องจากโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง ที่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ท่านอาจถูกปฏิเสธการต่ออายุกรมธรรม์ได้ เงื่อนไขเหล่านี้ จึงมีความสำคัญในการทำประกันสุขภาพในระยะยาว

4. บริการหลังการขาย
บริการหลังการขายของบริษัทประกันสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถึงแม้ว่าบริษัทประกันสุขภาพที่ดีจะให้ความคุ้มครองไม่ปฏิเสธการดูแลรับผิดชอบในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น แต่นั่นอาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับยุคปัจจุบัน บริษัทประกันสุขภาพที่ดีจึงควรที่จะให้คำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพได้เป็นอย่างดีในยามเจ็บป่วย หรือเมื่อต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็ควรช่วยจัดการวางแผนการรักษา แนะนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลที่เหมาะสมกับอาการเจ็บป่วยอีกทั้งเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว ยังสามารถให้คำแนะนำดูแล ช่วยวางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ท่านได้ใช้ผลประโยชน์อย่างคุ้มค่าสูงสุด รวมไปถึงการให้คำแนะนำเพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยนั้นๆ อีกด้วย

5. ความน่าเชื่อถือของบริษัทประกัน
ก่อนการตัดสินใจทำประกันสุขภาพ นอกจากการเปรียบเทียบผลประโยชน์ความคุ้มครองและค่าเบี้ยแล้ว ความน่าเชื่อถือของบริษัทประกัน ก็เป็นสาระสำคัญที่ควรต้องนำมาพิจารณา หากท่านคำนึงแต่ค่าเบี้ยถูกเป็นเกณฑ์ เมื่อเกิดเหตุแต่ไม่ได้รับความคุ้มครองนั้น หรือได้รับความคุ้มครองแต่ไม่ครอบคลุมเพียงพอเท่าที่ท่านพึงควรจะได้รับ ด้วยเหตุนี้การดูไปถึงแนวปฏิบัติในนโยบายและความน่าเชื่อถือของบริษัทจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นองค์ประกอบร่วมด้วย