สุขภาพกับโรคอ้วนในวัยเด็ก เด็กอ้วน อย่าได้ชะล่าใจ เพราะอาจเป็น “ภัยเงียบ” ไม่รู้ตัว จากการสำรวจของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าอีก 6 ปีข้างหน้า จำนวนของเด็กอ้วนจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียน และ 1 ใน 10 ของเด็กในวัยเรียน ซึ่งจะมีเด็กอ้วนในประเทศไทยจำนวนสูงขึ้นถึง 20%
ภาวะโรคอ้วนของเด็กที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลให้เด็กเป็นโรคต่างๆ ได้ ทั้งโรคเบาหวาน, ภาวะการต่อต้านอินซูลินทำให้มีระดับอินซูลินสูงกว่าเด็กปกติ, โรคหัวใจและหลอดเลือด, ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ มีโอกาส 3-5 เท่า ที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ลูกอ้วนแล้ว ควรทำอย่างไร ?
– ควบคุมการบริโภคอาหาร ตัดปริมาณที่เกิน ลดการกิน ของทอด ของมัน ของหวาน หรือขนมขบเคี้ยว เพิ่มผักและผลไม้ที่ไม่หวานไม่งดมื้ออาหาร ไม่ชงนมจาง เพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูก
– เมื่อพ้นวัยทารก ควรให้ดื่มนมรสจืดวันละ 2 – 3 แก้ว ( ถ้าอายุเกิน 2 ปี ดื่มนมพร่องไขมันหรือขาดมันเนยได้ ) ไม่ควรดื่มนมนมปรุงแต่งรสหวานหรือนมเปรี้ยว
– ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับอายุ โดยการสนับสนุนการเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆและการเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละครึ่ง – หนึ่งชั่วโมง
ป้องกันไม่ให้ลูกอ้วน จะดีกว่า..ทำได้โดย ให้บริโภคอาหารและส่งเสริมกิจกรรมต่างๆให้เหมาะสมกับวัย ดังนี้
– เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
– เริ่มอาหารเสริมเมื่ออายุ 6 เดือน เพิ่มปริมาณและจำนวนมื้อให้เหมาะกับวัย
– ไม่กินจุบจิบ กินผัก ผลไม้เป็นประจำ
– หัดให้ลูกดื่มน้ำจากแก้วและเลิกขวดนม เมื่ออายุ ขวบครึ่ง เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป ให้อาหาร 5 หมู่ ครบ 3 มื้อ และให้นมเป็นอาหารว่าง 2 – 3 แก้วต่อวัน
– หลีกเลี่ยงขนมถุงที่มีรสชาติหวาน มัน เค็มจัด ลูกอม และขนมหวาน ไม่ควรให้ขนมเป็นรางวัล และไม่ควรซื้อขนมมาตุนในบ้าน
– ส่งเสริมให้ลูกมีกิจกรรมเคลื่อนไหวมากขึ้น เช่น การเล่นนอกบ้านและเล่นกีฬาชอบตามวัย
– ลดการดูโทรทัศน์และการเล่นเกมส์
โรคอ้วนก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว การรักษาทำได้ยากและใช้เวลานานเห็นผลช้า จึงควรป้องกันไม่ให้เด็กเล็กเป็นโรคอ้วนเสียแต่เนิ่นๆ ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจและตั้งใจของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว และคนรอบข้าง