สุขภาพ กับ “ภาวะสมองเสื่อม”

สุขภาพ กับ “ภาวะสมองเสื่อม” “สมองเสื่อม” ไม่ได้เป็นโรค แต่เป็นภาวะหนึ่งของสมองที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยพบว่า 70% ของผู้ป่วยสมองเสื่อม มีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์ รองลงมา มีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งในคนปกติจะมีเซลล์สมองประมาณ 1 แสนล้านเซลล์ จะเริ่มมีพัฒนาการตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 30 ปี

ต่อจากนั้นเซลล์สมองจะค่อยๆ เสื่อมลง เมื่ออายุมากขึ้นประมาณ 60-65 ปีขึ้นไป ซึ่งภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการที่มีการสูญเสียหน้าที่การทำงานของสมอง ทำให้ความสามารถของบุคคลลดลง ความจำเสื่อม ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ มีพฤติกรรมแปลก ๆ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป มีความผิดปกติในการใช้ภาษา การคำนวณ ความเข้าใจ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเสื่อมของสมองนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันทั้งในด้านอาชีพการงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ

จากการสำรวจความชุกของภาวะสมองเสื่อมในประชากรทั่วโลก พบว่า คนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม 5-8% ส่วนคนที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็น 20% และผู้ที่มีอายุมากเกิน 90 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมสูงขึ้นถึง 50% ซึ่งพบว่าเพศหญิงมีโอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อมมากกว่าเพศชาย สาเหตุของสมองเสื่อม 1.โรคอัลไซเมอร์ ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร 2.วัยชรา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมตามธรรมชาติของสังขาร 3.สมองขาดเลือด มักเกิดจากหลอดเลือดเส้นเล็กๆ อุดตันซ้ำๆ เป็นเวลานาน ทำให้เซลล์สมองตาย และการทำงานของสมองเสื่อมลง 4.ความดันในสมองสูงจากการมีเลือดคั่งในสมอง หรือเนื้องอกในสมอง ทำให้มีพฤติกรรมความคิดหรือการตัดสินใจผิดปกติคล้ายภาวะสมองเสื่อม 5. ขาดวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง 6. การติดเชื้อที่มีผลทางสมอง เช่น ซิฟิลิส ไวรัสสมองอักเสบและไวรัสเอดส์ ทำให้เซลล์สมองตาย และเกิดภาวะสมองเสื่อม 7. การติดสุราเรื้อรังเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม 8. ภาวะที่เกิดขึ้นภายหลังการขาดออกซิเจนเช่น มีอาการชักซ้ำติดต่อกัน หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเวลานานๆ 9. โรคเสื่อมบางชนิดทำให้เกิดสมองฝ่อบางส่วน เช่น โรคพาร์กินสันทำให้เกิดอาการสั่น และเคลื่อนไหวช้าลง

ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงวัยที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมองนั้นยังไม่พบวิธีการรักษา มีเพียงการให้ยาเพื่อชะลออาการเสื่อมของสมองไม่ให้เข้าสู่ระดับรุนแรง แต่ยาเหล่านี้ต้องใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงตามมา จึงควรนำผู้ที่เข้าข่ายว่าอาจมีภาวะสมองเสื่อมไปพบแพทย์ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ทำอย่างไรให้ห่างไกลจากภาวะสมองเสื่อม

1. ออกกำลังกาย มีส่วนช่วยอย่างมากในการชะลอความเสื่อม และยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองด้วย ควรออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

2. การเลือกรับประทานอาหาร ให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง ให้เน้นรับประทานอาหารเนื้อปลา ผักและผลไม้ ที่สำคัญอย่าให้ร่างกายขาดวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบี 1 และบี 12

3. หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่ทำอันตรายสมอง เช่น การดื่มสุราหรือการใช้ยาโดยไม่จำเป็น

4. หมั่นเข้าสังคมหรือหากิจกรรมทำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุวัยเกษียณ แทนการจับเจ่าอยู่บ้าน

5. ระมัดระวังอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการลื่นล้มที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อสมองโดยตรง

6. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ควรต้องติดตามการรักษาและปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

7. บริหารสมอง ด้วยการฝึกทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดและเพิ่มการทำงานของสมอง เช่น บวกลบคูณหารตัวเลข วาดรูป เล่นเกมเพื่อให้ฝึกใช้ความคิด