สุขภาพ : ท้องผูกมีวิธีแก้ได้อย่างไรบ้าง การปล่อยให้ท้องผูกนานๆ ไม่เพียงแค่โรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่อื่นๆ จะตามมา แต่ยังสามารถทำให้ความจำเสื่อมเร็วกว่าเวลาอันควรอีกด้วย การรักษาอาการท้องผูกนั้นแก้ไขได้ไม่ยาก มีมากมายหลายวิธีที่คนส่วนใหญ่พอจะรับรู้ข้อมูลกันอยู่แล้วบ้าง เช่น ควรดื่มน้ำมากๆ ทานผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหาร ขับถ่ายให้เป็นนิสัย ไม่จำเป็นที่จะต้องทุกวัน แต่ถ้าหากขับถ่ายได้ทุกวันก็จะดีมาก เมื่อร่างกายเคลื่อนไหว ลำไส้ก็จะขยับ ทำให้อาหารถูกส่งผ่านลำไส้ได้ดีขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องขยันบริหารร่างกาย ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี
จุดของเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ต่อมาถึงข้างจมูก แพทย์แผนจีนจะเรียกว่า จุดอิ๋งเซียง ให้ใช้นิ้วชี้กดตรงจุดที่ว่านี้ทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน กดและปล่อยตามจังหวะการเต้นของหัวใจ พักเมื่อนับถึง 20 กดซ้ำๆจนกระทั่งรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ
การกดหรือนวดท้องน้อย เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผล โดยนอนราบ ชันเข่าทั้งสองข้าง จากนั้นใช้อุ้งมือนวดและคลึงบริเวณสะดือหรือท้องน้อย หรือจะใช้ปลายนิ้วทั้ง 4 กดลงไปก็ได้ หรือใช้ฝ่ามือลูบท้องวนจากขวาไปซ้ายประมาณ 10-20 รอบ
จากท้องสู่ฝ่าเท้า มีจุดเกี่ยวข้องกับลำไส้ใหญ่ 2 จุด คือบริเวณกลางฝ่าเท้าช่วงที่ต่อกับส่วนของส้นเท้า ณจุดที่ห่างจากส้นเท้าเล็กน้อย กดและคลายประมาณ 10 นาที
อีกวิธีที่ง่ายมากในการแก้ปัญหาท้องผูก ซึ่งสามารถทำในขณะนั่งทำงานได้ โดยนวดใบหู (ข้างซ้าย) จุดที่จะกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ อยู่บริเวณหลังใบหูส่วนบน และจุดเดียวกันที่หูขวา คือจุดของลำไส้เล็ก นวดขึ้นบนประมาณ 5-10 นาที ถ้านวดได้วันละ 3 ครั้งจะดีมาก
อีกวิธีคือการกระตุ้นการขับถ่ายด้วยท่าโยคะ โดยใช้ท่าโยคะที่ชื่อว่า Parivrtta Trikonasana เริ่มจากยืนแยกเท้าให้ห่างกัน หายใจเข้าพร้อมกับยกแขนขึ้นจากข้างลำตัวให้ขนานกับพื้น หายใจออกพร้อมแนบศีรษะให้ติดกับต้นแขนซ้าย ยืดขาซ้ายให้ตรง หายใจเข้าลึกๆ เอนตัวไปทางด้านซ้ายจนสุด ยืดแขนซ้ายมาจับข้อเท้าซ้าย และยกแขนขวาตั้งตรง แหงนศีรษะมองมือขวา แล้วสูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ หลายๆ ครั้ง จากนั้นทำซ้ำท่าเดิมทางด้านขวา
สิ่งสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน การบริหารทวารหนักก็สามารถช่วยแก้ปัญหาอาการท้องผูกได้ โดยบริหารทวารหนักด้วยการขมิบวันละประมาณ 100 ครั้ง โดยขมิบ 10 ครั้ง แล้วเกร็งไว้ 1 นาที วิธีนี้ช่วยได้ทั้งท้องผูกและริดสีดวงทวาร
สัญญานเตือนท้องผูก
1. การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือน้อยกว่าปกติที่เคยเป็น
2. อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เป็นเม็ดเล็กๆ
3. รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ออก หรือถ่ายได้ไม่สุด
4. ถ่ายอุจจาระออกได้ยาก ต้องใช้แรงเบ่งมาก
5. มีอาการเจ็บขณะถ่ายอุจจาระ
6. อาจมีอาการท้องอืด ปวดท้อง หรือปวดเกร็งบริเวณหน้าท้องร่วมด้วย