สุขภาพ : เราเป็น ‘ไมเกรน’ แบบไหน? ปัญหาสุขภาพที่คนวัยทำงานส่วนใหญ่ต้องเผชิญนั้นมีหลากหลาย แต่บางคนเลิกที่จะมองช้ามเพราะต้องเร่งสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต จึงหักโหมทำงานอย่างหนักซึ่งอาจส่งผลเสียในระยะยาวให้กับสุขภาพได้
โดยเฉพาะโรคยอดฮิตอย่าง ไมเกรน โรคที่ไม่ใช่แค่อาการปวดศีรษะทั่วไป แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท สามารถเริ่มเป็นได้ตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งมักจะกำเริบเป็นครั้งคราวเมื่อเผชิญกับสิ่งเร้าต่างๆ เช่น สภาพอากาศที่ร้อนจัด แดดจ้า การอดหลับอดนอน ภาวะเครียดสะสม ดังนั้นการมีความรู้ที่เพียงพอ พร้อมกับรู้จักสังเกตตนเอง และบุคคลใกล้ชิด ก็เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาตั้งแต่เริ่มต้นและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากที่สุด
โดยระยะของโรคนี้สามารถจำแนกได้ด้วยระดับความปวดศีรษะ ซึ่งจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะนำ (Prodrome)
ระยะอาการเตือน (Aura)
ระยะปวดศีรษะ (Headache)
ระยะหลังจากปวดศีรษะ (Postdrome)
อาการปวดสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยตามความถี่ของอาการปวดศีรษะได้อีก 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มไมเกรนแบบครั้งคราว คือมีอาการปวดน้อยกว่า 15 วันต่อเดือน
กลุ่มไมเกรนแบบเรื้อรัง คือมีอาการปวดมากกว่า 15 วันต่อเดือน ซึ่งควรต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
การรักษาในปัจจุบัน
ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และยังคงยกให้เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป ซึ่งจุดมุ่งหมายในการรักษาจึงอยู่ที่การรับมือกับอาการปวด ไม่ว่าจะเป็นการรักษาทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา เพื่อเป็นการรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บรรเทาทุกข์ทรมานจากอาการปวดหัว และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถประกอบกิจวัตรต่างๆ ได้ตามปกติ
ข้อแนะนำการปฏิบัติตัว
ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่อาการปวดเรื้อรัง ควรหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 30 นาทีต่อครั้ง และหมั่นจดบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับความปวด อาทิ วัน เวลา ระยะเวลา ลักษณะอาการปวด อาหารที่รับประทาน รวมถึงความผิดปกติต่างๆ
อาการไมเกรนรุนแรง
หากผู้ป่วยมีอาการปวดหัวรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวด เป็นบ่อยขึ้น (มากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน) ทานยาแล้วไม่หาย ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับอาการ ซึ่งปัจจุบันมีคลินิกปวดศีรษะที่รักษาเฉพาะทางเกี่ยวกับโรคปวดศีรษะโดยเฉพาะ โดยเริ่มจากวิธีการคัดกรองอาการปวดศีรษะประเภทต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัย ที่จะช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาได้ตรงจุด ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ทั้งนี้คลินิกปวดศีรษะยังมีวิธีการรักษา เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะที่หลากหลายตามลำดับ ดังรายละเอียดด้านล่างนี้
เรื่องของยากับไมเกรน
การให้ยาแก้ปวดและยาป้องกันไมเกรนอย่างเหมาะสม ซึ่งมียาหลากหลายชนิดทั้งแบบชนิดรับประทานและชนิดฉีด การใช้ยาจะขึ้นกับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน โดยยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Calcitonin gene-related peptide หรือ CGRP สามารถใช้ได้ดีในผู้ป่วยไมเกรนชนิดเรื้อรังหรือดื้อต่อการรักษาการรักษาโดยใช้ค็อกเทล หรือตัวยาหลายชนิดร่วมกันเพื่อช่วยรักษาอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน ซึ่งวิธีนี้จะดีกว่าการฉีดยาเพื่อลดอาการปวดตามปกติ เพราะวิธีการนี้ไม่เพียงช่วยให้อาการปวดทุเลาลง แต่ยังช่วยลดการปวดศีรษะซ้ำภายใน 24 ชั่วโมงได้อีกด้วย
หัตถการทางการแพทย์
การทำหัตถการทางการแพทย์เพื่อลดอาการปวดศีรษะ เช่น การฉีดยาเข้าไปบริเวณเส้นประสาทหลังท้ายทอย (Occipital Nerve Block) หรือการฉีดโบทูลินัมท็อกซินการรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า (neurostimulation) โดยคลื่นแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation; TMS) หรือกระแสไฟฟ้าตรง (Transcranial Direct Current Stimulation : TDCS) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบความปวดภายในสมอง จัดว่าเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยมีผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีการอื่นการรักษาแบบไบโอฟีดแบค (Biofeedback) เป็นเทคโนโลยีการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย สามารถรับรู้สัญญาณการทำงานจากอวัยวะต่างๆ ในสถานการณ์เครียด โกรธ เจ็บปวด ผ่อนคลาย มีความสุข และนำการรับรู้ดังกล่าวมาปรับใช้ และควบคุมร่างกายตนเองให้ดีขึ้น