สุขภาพ : เลิกบุหรี่อย่างไร ให้ได้ผลดีที่สุด

สุขภาพ : เลิกบุหรี่อย่างไร ให้ได้ผลดีที่สุด หลายคนเคยให้คำสัญญากับตัวเองหรือกับคนในครอบครัวว่าจะพยายามเลิกบุหรี่ให้สำเร็จ แต่จนแล้วจนเล่าก็ยังทำไม่ได้เสียที ถึงอย่างนั้นก็อย่าเพิ่งท้อหรือถอดใจไป เพราะคุณอาจยังไม่เคยลองหลายๆ เทคนิคการเลิกบุหรี่ด้วยตนเองที่เรานำมาฝากกันในวันนี้

ทำไมการเลิกบุหรี่ถึงเป็นเรื่องยาก
เมื่อสูบบุหรี่ สารนิโคตินในควันบุหรี่จะเข้าสู่กระแสเลือด และไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความสุข ความรู้สึกพอใจ รวมถึงสารนอร์อิพิเนฟรินที่มีฤทธิ์ทำให้รู้สึกตื่นตัว สดชื่น กระปรี้กระเปร่า และผ่อนคลาย แต่ทันทีที่ทั้งสารนอร์อิพิเนฟรินและสารโดปามีนหมดฤทธิ์ลงไป ผู้สูบบุหรี่ก็จะเกิดอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย และวิตกกังวล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้ต้องสูบบุหรี่ในมวนต่อไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยให้อาการเหล่านี้หายไป อาการติดบุหรี่จึงมีลักษณะเหมือนงูกินหางแบบไม่มีที่สิ้นสุด

-ค้นหาแรงจูงใจให้ตนเอง
ค้นหาคำตอบให้ตัวเองว่า การเลิกบุหรี่จะทำให้ชีวิตตนเองดีขึ้นอย่างไรบ้าง จะเป็นผลดีต่อคนรอบข้างอย่างไรบ้าง เมื่อตนเองเลิกได้ เช่น เลิกบุหรี่แล้วจะเก็บเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ลูก หรือเลิกบุหรี่แล้วร่างกายจะแข็งแรงขึ้น เหนื่อยง่ายน้อยลง สวยหล่อกว่าเดิม เป็นต้น แล้วอย่าลืมจดใส่กระดาษแปะเอาไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย มองเห็นได้บ่อย ๆ เพื่อเตือนความจำของตัวเองด้วย

-หาวันที่เหมาะสมในการเริ่มต้น
วันแรกที่จะเริ่มเลิกสูบบุหรี่ก็สำคัญ อาจเลือกวันที่มีความหมายต่อตัวเองมาก ๆ เช่น วันเกิด วันเกิดแฟน วันเกิดลูก วันเกิดพ่อแม่ หรือฤกษ์อื่น ๆ เช่น วันครบรอบแต่งงาน วันพระ วันเข้าพรรษา วันปีใหม่ เป็นต้น จะทำให้วันนั้นพิเศษยิ่งขึ้น

-หักดิบดีกว่าค่อย ๆ หยุด
โดยทั่วไปแล้ว การเลิกบุหรี่โดยการหักดิบมักมีโอกาสเลิกได้สำเร็จในระยะยาวมากกว่าการค่อย ๆ หยุด เพราะการค่อย ๆ หยุดอาจทำให้ตัวเองหันกลับไปสูบบุหรี่เท่าเดิมได้โดยไม่รู้ตัว แต่การหักดิบจะเป็นความตั้งใจที่จะไม่ย้อนกลับไปจับบุหรี่อีก โยนซองบุหรี่ และไฟแช็กเก่าทิ้งไปได้ในทันที

-ใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ ในกรณีที่สูบตั้งแต่ 10 มวนต่อวันขึ้นไป
ปัจจุบันมียาหลากหลายที่ให้ผลดีมาก เช่น ยาวาเรนิคลิน (Varenicline) ยาบูโพรพิออน (Bupropion) และนิโคตินทดแทน การใช้ยาช่วยทำให้เลิกสูบบุหรี่จะง่ายขึ้นสำหรับคนที่เคยติดบุหรี่มาก ๆ และควรใช้ยาให้ถูกต้อง ถูกขนาด ตามคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกร

-หลีกเลี่ยง และกำจัดสิ่งกระตุ้นให้สูบบุหรี่
ใช้สเปรย์ดับกลิ่นบุหรี่ที่ยังตกค้างตามที่ต่าง ๆ ทิ้งไฟแช็ก และที่เขี่ยบุหรี่ รวมถึงรู้จักปฏิเสธผู้ที่ชักชวนให้สูบ และพยายามไม่เข้าไปอยู่ในสถานที่ หรือสถานการณ์ที่พาให้สูบบุหรี่ได้ง่าย เช่น ไปเที่ยวกลางคืน หรือร่วมงานปาร์ตี้ที่กลุ่มเพื่อนมักสูบบุหรี่กันเป็นประจำ เป็นต้น