ห่างไกลจากโรคไต ด้วยการมีสุขภาพที่ดี เนื่องจากโรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดผู้ป่วยมักมีภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ไตเกิดความผิดปกติเกิดจาก โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคพันธุกรรมทางไต หรือการใช้ยามากเกินปริมาณที่กำหนด โดยเฉพาะยาที่เป็นพิษต่อไต ประเภทยาแก้ปวดข้อ ยาคลายกล้ามเนื้อ
โดยอาการแสดงของโรคที่พบได้คือ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด บวมที่หน้า เท้า ปวดหลัง ปวดเอว เบื่ออาหาร คลื่นไส้และความดันโลหิตสูง ทางการแพทย์ได้แบ่งขั้นตอนในการรักษาโรคไตออกเป็น 4 ระดับ คือ
1. ผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นของโรค ซึ่งจะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
2. การรักษาที่สาเหตุของโรค เช่น การหยุดยาซึ่งเป็นพิษต่อไต การควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
3. การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไต ได้แก่ การควบคุมอาหารให้เหมาะกับการทำงานของไตที่เหลืออยู่ การใช้ยาเพื่อช่วยปรับสารต่าง ๆ ที่เป็นพิษต่อไต
4. การล้างไตและการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เมื่อไตวายมากขึ้นจนเข้าระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการล้างไต หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยการล้างไต มี 2 วิธี คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งพบว่าผลการรักษาทั้ง 2 วิธีได้ผลใกล้เคียงกัน
ทำไมโซเดียม (จากเครื่องปรุงรสเค็มๆ) ถึงทำให้เกิดโรคไต?
เพราะรสเค็มที่เราทานเข้าไป จะทำให้ไตต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ให้ระบบอื่นๆ ในร่างกายผิดปกติตามไปด้วย เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น และยังเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ อัมพฤกษ์อัมพาต และหอบหืด เป็นต้น
ปริมาณโซเดียมที่เราไม่ควรทานเกินในแต่ละวัน
คนปกติ ไม่ควรทานโซเดียมเกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม
หากเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ไม่ควรทานเกิน 2,000 มิลลิกรัม
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไต ไม่ควรทานเกิน 1,00-1,500 มิลลิกรัม
ผู้ป่วยโรคไตขั้นวิกฤต ไม่ควรทานเกิน 500 มิลลิกรัม
ตัวอย่างปริมาณโซเดียม ในอาหารแต่ละชนิด
– บะหมี่น้ำหมูแดง 1 ชาม 1,450 มิลลิกรัม
– ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว 1 จาน 1,352 มิลลิกรัม
– ปลาสลิดเค็ม 1 ตัว 1,288 มิลลิกรัม
– ส้มตำอีสาน 1 จาน 1,006 มิลลิกรัม
– ผัดผักบุ้งไฟแดง 1 จาน 894 มิลลิกรัม
– ข้าวผัดไข่หมู 1 จาน 416 มิลลิกรัม
นอกจากเลือกทานอาหารรสจืด เช่น อาหารคลีน หรือเลือกร้านที่ไม่ปรุงรสเค็มจัดแล้ว คุณอาจเลือกที่จะทำอาหารทานเอง เลือกเมนูน้ำใสๆ อย่างแกงจืด สุกี้ (น้ำจิ้มน้อย) ผัดผัก (ปรุงรสด้วยน้ำปลาโซเดียมต่ำ) ได้ แต่ข้อควรระวังคือ หากเลือกใช้น้ำปลาโซเดียมต่ำ อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตค่ะ