อาการอ่อนล้าหมดแรงที่เป็นอยู่นี่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพไหม หากคุณมีอาการอ่อนเพลียเป็นพัก ๆ หรือมักจะเหนื่อยล้าเป็นช่วง ๆ จนเริ่มจะสงสัยตัวเองอยู่เบา ๆ ว่าความอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ดูไร้ซึ่งแรงบันดาลใจจะทำอะไรต่อมิอะไรของเราเป็นเพราะความขี้เกียจส่วนตัว หรือจริง ๆ แล้วร่างกายเราซ่อนโรคอะไรอยู่หรือเปล่า งั้นเอาเป็นว่ามาเช็กความแตกต่างกันให้รู้แจ้งเห็นจริง อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หมดแรง แตกต่างจากความขี้เกียจยังไง
เช็กเลยว่าอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ขี้เกียจ แตกต่างกันอย่างไร
ถ้าอยากเช็กร่างกายของตัวเองง่าย ๆ อาจต้องสังเกตว่าความเหนื่อยของเราลากยาวไปขนาดไหน เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย เหมือนจะหมดแรงทุกวัน แต่พอพักก็หายเหนื่อย และยังพอมีแรงจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ไหว ยังไปทำงานได้เป็นปกติ พูดคุยกับคนรอบข้างได้อย่างสบายใจ เคสนี้อาจเป็นแค่การใช้ร่างกายหักโหมมากเกินไป เช่น ทำงานหามรุ่งหามค่ำติดต่อกันบ่อย ๆ โหมออกกำลังกายหนักเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้ไหว หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่เกินพอดี ซึ่งก็จะส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยล้าและหมดแรง หรืออาจส่งผลกระทบในแง่ลบกับสุขภาพได้ในภายภาคหน้าเช่นกัน
แต่สำหรับคนที่มีอาการอ่อนเพลีย คล้ายจะรู้สึกอ่อนเพลียเรื้อรัง คือรู้สึกอ่อนล้าหมดแรงตลอดเวลา เป็นแบบนี้มาประมาณ 1-3 เดือน อาจเป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจร่วมกัน เป็นได้ว่าอาจเกิดจากความเครียดสะสม ซึ่งส่งผลให้ร่างกายแสดงอาการในด้านลบออกมาทีละนิดละหน่อย ดังนี้
– รู้สึกหมดกำลังใจจะทำอะไร
– เครียดจนนอนไม่หลับเลยรู้สึกนอนไม่พออยู่ตลอดเวลา หรือบางคนอาจมีอาการนอนหลับเต็มอิ่มแต่รู้สึกเหมือนไม่ได้นอน
– มีอาการท้องอืดบ่อย ๆ หรือรู้สึกหิวตลอดเวลา หรือบางเคสอาจไม่รู้สึกอยากกินอะไรเลยก็เป็นได้
จะว่าไปอาการอ่อนเพลียก็น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย เพราะกระทบกับสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตเข้าอย่างจัง คุณอาจมีปัญหาในการทำงาน หรือมีความสัมพันธ์ที่แย่ลงกับคนรอบข้างได้ ดังนั้นหากพบว่าตัวเองมีอาการอ่อนเพลียอยู่ ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกให้ตัวเองโดยเร็วที่สุดดีกว่า
ส่วนความขี้เกียจ จะเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกายแค่ชั่วขณะหนึ่ง เช่น หลังจากกินอิ่มแล้วไม่รู้สึกอยากทำอะไร หรือการได้นอนมากเกินไป ทำให้รู้สึกอยากนอนต่อไปเรื่อย ๆ โดยบางครั้งก็สามารถยกเลิกกิจกรรมที่คิดไว้ว่าจะทำอย่างไม่ต้องคิดอะไรมาก ทว่าหลังจากเวลาผ่านไปสักระยะ ร่างกายตื่นเต็มที่ หรือกลับมาอยู่ในภาวะปกติ ความขี้เกียจก็จะหายไปได้เอง เราก็กลับมามีชีวิตชีวาและกระตือรือร้นมากขึ้นอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่อาการที่น่าเป็นห่วงเท่าไร แต่ก็ไม่ควรจะรู้สึกขี้เกียจบ่อยเกินไปนะคะ
อย่างไรก็ตามในศาสตร์อายุรเวท ความรู้สึกเหนื่อยล้า และความขี้เกียจมักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกันอยู่นิดหน่อย กล่าวคือเมื่อร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้า ก็อาจพาให้รู้สึกขี้เกียจจะทำสิ่งต่าง ๆ ตามไปด้วย จนบางคนก็เหนื่อยและขี้เกียจจนติดเป็นนิสัยไปซะอย่างนั้น