ฮอร์โมนกับสุขภาพ

ฮอร์โมนกับสุขภาพ อร์โมนคือสารเคมีที่สร้างจากต่อมไร้ท่อต่างๆในร่างกาย ทำหน้าที่เป็นข้อความเพื่อบอกให้เซลล์ หรืออวัยวะต่างๆทำงาน ซึ่งปริมาณฮอร์โมนแต่ละชนิดนั้นจะแตกต่างกัน และเปลี่ยนแปลงได้ง่าย

1) ประจำเดือนมาไม่ปกติ
รอบประจำเดือนโดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ 21 – 35 วัน แล้วแต่บุคคล แต่หากเดือนไหนที่ประจำเดือนมาไม่ตรงรอบ หรือมาขาดไป 1 – 2 เดือน อาจมีสาเหตุจากการที่ฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน) อยู่ในระดับที่ผิดปกติ หรืออยู่ในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือน (อายุ 40 ปีขึ้นไป) แต่หากประจำเดือนมาไม่ตรง หรือขาดหายเป็นช่วงๆ หลายรอบเดือนติดต่อกัน อาจเป็นจากกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ หรือเข้าสู่ภาวะวัยทองก่อนกำหนดได้

2) ปัญหาด้านการนอนหลับ
หลายคนอาจไม่ทราบว่าฮอร์โมนเพศเกี่ยวข้องกับการนอนหลับเช่นกัน โดยการหลั่งของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ต่ำเกินไปจะทำให้การนอนหลับยากขึ้น หรือการมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ต่ำจะทำให้เกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ หรือการมีเหงื่อออกมากในช่วงกลางคืน ดังนั้นจะเห็นว่าในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (ฮอร์โมนเพศต่ำลง) จะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับได้

3) ปัญหาสิวเรื้อรัง
เรื่องสิวขึ้นขณะมีหรือก่อนมีประจำเดือน แล้วหายไปหลังจากประจำเดือนหมดอาจเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงหลายๆคน ซึ่งเป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนเพศที่สูงขึ้นขณะมีประจำเดือน แต่มีสิวบางเม็ดที่ไม่ยอมหายไป แม้ประจำเดือนหมดแล้ว เป็นผลมาจากฮอร์โมนแอนโดรเจนที่มีฤทธิ์กระตุ้นต่อมไขมันที่ผิวและรูขุมขนให้ทำงานมากเกินไป จึงทำให้เป็นสิวขึ้นมาได้

4) ปัญหาเรื่องความจำ
แม้เรื่องนี้จะยังไม่มีการยืนยันโดยผู้เชี่ยวชาญ แต่มีทฤษฎีที่ว่าในวัยก่อนหมดประจำเดือน และวัยทองระดับของฮอร์โมนเพศหญิงที่ตกลงทำให้เกิดปัญหาเรื่องความทรงจำได้ ทั้งความทรงจำเดิมที่เลือนลาง และการจดจำความทรงจำใหม่ๆที่ยากขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าฮอร์โมนเพศที่มีผลเกี่ยวกับการทำงานของสารเคมีในสมอง เมื่อฮอร์โมนเพศลดลง สารเคมีดังกล่าวจะทำงานลดลงด้วย ซึ่งนอกจากฮอร์โมนเพศแล้วยังมีฮอร์โมนอื่นอีกเช่น ไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น

5) ปัญหาด้านการย่อยอาหาร
เนื่องจากช่วงช่องท้องมีตัวรับสัญญาณของฮอร์โมนเพศหญิงอยู่มาก ในขณะที่ฮอร์โมนดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลง (ช่วงก่อน ระหว่างและหลังมีประจำเดือน) อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องอืด ปวดท้อง หรือคลื่นไส้อาเจียนได้ ดังนั้นในกรณีที่อายุมากขึ้น แล้วระบบย่อยอาหารของคุณเริ่มทำงานแย่ลง รวมถึงเหนื่อยง่าย สิวเยอะขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าเกิดจากฮอร์โมนเพศหมดไป

6) อาการเหนื่อยง่าย หมดแรงง่าย
หากคุณมีอาการเหนื่อยง่าย หมดแรง อ่อนเพลียอยู่บ่อยๆ ก็เป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ เช่นการมีโปรเจสเตอโรนมากเกินไป หรือไทรอยด์ฮอร์โมนมีน้อยเกินไป เนื่องจากไทรอยด์ฮอร์โมนมีหน้าที่สร้างพลังงาน การขาดฮอร์โมนดังกล่าวไปจะทำให้ร่างกายมีพลังงานน้อยเกินไป ซึ่งในการตรวจไทรอยด์ฮอร์โมนนั้นปัจจุบันสามารถทำได้ง่าย รอผลไม่นาน และมีแนวทางการรักษาที่ชัดเจน

7) อารมณ์แปรปรวน และอาการซึมเศร้า
นักวิจัยคาดว่าการลดลงของระดับฮอร์โมน หรือการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนที่รวดเร็วทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์เปลี่ยนแปลงเช่นกัน จึงทำให้การแปรปรวนของอารมณ์ได้ง่าย เช่นขณะที่ผู้หญิงมีประจำเดือน ปริมาณเอสโตรเจนจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดอาการหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวนขึ้นมาได้

8) หิวบ่อย และน้ำหนักเพิ่ม
ผู้หญิงหลายคนมักหิวบ่อย กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม จนน้ำหนักเพิ่มได้ง่ายขณะมีประจำเดือน สาเหตุที่เป็นไปได้คือระดับเอสโตรเจนในร่างกายที่ลดลง ส่งผลให้ฮอร์โมนเลปตินที่ทำหน้าที่ควบคุมความรู้สึกอิ่ม และความอยากอาหารทำงานไม่ปกติ จึงเป็นเหตุทำให้หิวบ่อยและน้ำหนักเพิ่มได้

9) ปวดหัว
อาการปวดหัวเป็นหนึ่งในอาการที่มาพร้อมประจำเดือนที่เป็นปัญหาของคุณผู้หญิงหลายคน เนื่องจากระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ต่ำลง โดยอาการปวดหัวอาจจะเป็นแค่ครั้งเดียวหรือเป็นหลายๆครั้งต่อรอบเดือน แต่อาการดังกล่าวจะมาเป็นประจำในเวลาเดียวกันของทุกๆเดือน

10) ช่องคลอดแห้ง
เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนจะกระตุ้นเซลล์บริเวณช่องคลอดให้หลั่งสารเพิ่มความชุ่มชื้นตลอดเวลา ในกรณีที่ระดับฮอร์โมนต่ำลง จะทำให้ช่องคลอดแห้ง เป็นเหตุให้มีอาการคัน หรือเจ็บช่องคลอดได้

11) การหมดอารมณ์ทางเพศ
ฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ทางเพศคือ เทสโทสเทอโรน ที่มักถูกเข้าใจผิดว่ามีเฉพาะในเพศชาย แต่แท้จริงแล้วฮอร์โมนดังกล่าวพบในเพศหญิงเช่นกันแต่ในปริมาณที่น้อยกว่า ซึ่งในช่วงอายุที่มากขึ้นระดับของเทสโทสเทอโรนในเพศหญิงจะลดลง จนทำให้หมดความสนใจเรื่องเพศ

12) การเปลี่ยนแปลงของหน้าอก
หากเปรียบเซลล์บริเวณหน้าอกเป็นฟองน้ำ ขณะก่อนมีประจำเดือนระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะพุ่งสูงขึ้น เหมือนการฉีดน้ำเข้าไปมาก คุณผู้หญิงหลายคนจะรู้สึกคัดตึงหน้าอกได้ แต่ในขณะมีหรือหลังมีประจำเดือนอาการดังกล่าวจะหายไปรวมทั้งขนาดของหน้าอกจะเล็กลงด้วย แต่หากคุณพบว่ามีก้อนแข็งๆปริเวณหน้าอก ซึ่งไม่ปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม