โรคทั่วไป : “ปวดหลัง” รักษาได้ ด้วยเทคนิคการรักษาแนวใหม่ การรักษาโรคปวดหลังนั้น เป็นไปตามสาเหตุของอาการปวดและการวินิจฉัย เมื่อมีอาการปวดหลังทั่วไป ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้น เช่น การพักหรือลดการใช้งานกระดูกสันหลัง การควบคุมอาการปวดด้วยยาแก้ปวดตามอาการ การทำกายภาพพื้นฐานเบื้องต้น เช่น การประคบร้อน และยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด
การรักษาอาการปวดหลัง
อย่างไรก็ตาม หลังจากการดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดหลังที่มีสัญญาณเตือนในทางที่ไม่ดี (Red Flag Signs) ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาโรคปวดหลังแบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เพื่อลดอาการปวดเป็นหลัก (Pain Management) ได้แก่
การรักษาด้วยยา ยาที่เหมาะสม ได้แก่ ยาลดอาการปวดและการอักเสบของกล้ามเนื้อ (NSAIDS) ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาสำหรับลดอาการปวดจากปลายประสาท อย่างไรก็ดี การให้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ใช้ยาชนิดอื่นๆ อยู่เป็นประจำ ควรคำนึงถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรับประทานกลุ่มยาแก้ปวดด้วย
การทำกายภาพบำบัด เป็นหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการรักษาโรคปวดหลังแบบไม่ผ่าตัด เช่น การประคบร้อน การทำ Ultrasound, Laser, Shockwave Therapy, การบริหารกล้ามเนื้อที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดหลังในอนาคต (ดูข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ครบวงจร โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู พร้อมทีมนักกายภาพบำบัดที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์)
การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหลัง (Back Support or Brace) การใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังสำหรับอาการปวดหลัง มักมีประโยชน์ในระยะสั้น สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายมากขึ้น อาการปวดลดลง นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สำหรับพยุงหลังในผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังได้อีกด้วย
การทำหัตถการบริเวณกระดูกสันหลัง เช่น การฝังเข็ม การฉีดยาบล็อกกล้ามเนื้อ (Trigger Point) การฉีดยาบล็อกข้อต่อ Facet การฉีดยาเข้าโพรงเส้นประสาท (Epidural Steroid Injection) โดยประโยชน์ของการทำหัตถการ คือ ลดอาการปวด และช่วยยืนยันการวินิจฉัย
ซึ่งการทำหัตถการต่างๆ เหล่านี้ เป็นการรักษาโรคปวดหลังแบบไม่ผ่าตัดที่ได้ผลดี มีความเสี่ยงน้อย (สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษากับแพทย์เฉพาะทางได้ที่ ศูนย์กระดูก ข้อ กระดูกสันหลัง และการแพทย์กีฬา)
แพทย์ทางเลือก เช่น Chiropractor เป็นการปรับสมดุลของกระดูกสันหลังเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น การเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังและลดอาการปวด หรือ การฝังเข็ม การนวดกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
2. การรักษาแบบผ่าตัด
การรักษาอาการปวดหลังด้วยวิธีการผ่าตัด อาจพิจารณาผ่าตัดในผู้ป่วยที่อาการไม่ทุเลาจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัดเป็นเวลาอย่างน้อย 6-12 สัปดาห์ หรือในผู้ป่วยที่มีการทำงานของเส้นประสาทที่เสียไป เช่น กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดควบคุมการขับถ่ายเสียไป
ทางเลือกในการรักษาแบบผ่าตัด
การพิจารณาทางเลือกในการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย โดยทั่วไปแบ่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
1. การผ่าตัดเพื่อระบายโพรงเส้นประสาท
เป็นการผ่าตัดเพื่อระบาย (Decompress) เส้นประสาทที่ถูกกดทับ โดยการผ่าตัดนำสิ่งที่กดทับเส้นประสาทออกจากสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบลง (Spinal Stenosis) เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Disc Herniation) ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ เป็นการผ่าตัดแบบไม่ต้องใส่เหล็กเพื่อยึดกระดูกสันหลัง หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวกระดูกสันหลังปล้องนั้นๆ ได้ตามปกติ
2. การผ่าตัดเพื่อระบายโพรงเส้นประสาทและเชื่อมข้อ (Nerve Decompression and Fusion)
เป็นการผ่าตัดเพื่อระบาย (Decompress) เส้นประสาทที่ถูกกดทับและใส่เหล็กเชื่อมข้อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกัน การผ่าตัดวิธีนี้ เป็นการผ่าตัดที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังจากโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) และมีความไม่มั่นคง (Instability) ของกระดูกสันหลังปล้องนั้นๆ ร่วมด้วย เช่น มีความผิดรูปของกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังเคลื่อน หลังคด หรือหลังโก่งผิดรูป เป็นต้น
“การผ่าตัดกระดูกสันหลัง หรือกระดูกต้นคอ นั้นน่ากลัว”
“อย่าไปผ่าตัด ผ่าไปก็ไม่หาย หรือ ผ่าแล้วจะเดินไม่ได้”
หลายๆ คน คงเคยได้ยินเพื่อนๆ หรือคนรู้จักพูดประโยคเหล่านี้ แต่ปัจจุบันการผ่าตัดกระดูกสันหลังหรือกระดูกต้นคอนั้น ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังไปมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคนิคการผ่าตัด การพัฒนาการควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัด ไปจนถึงการฟื้นฟูหลังผ่าตัดด้วยกายภาพบำบัด ทำให้สามารถลดความเสี่ยง และเพิ่มผลสำเร็จจากการผ่าตัดได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการผ่าตัดในอดีต ทั้งนี้ สามารถแบ่งได้เป็น การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบดั้งเดิม และ เทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังรูปแบบใหม่ (แบบแผลเล็ก) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบดั้งเดิม (Conventional Spine Surgery)
การผ่าตัดระบายโพรงเส้นประสาทและใส่เหล็กเชื่อมข้อ (Nerve Decompression and Fusion)
การผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อระบายโพรงเส้นประสาทและเชื่อมข้อ (Decompressive lumbar Laminectomy with Posterolateral Spinal Fusion – DLPL Fusion)
2. เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery)
เป็นเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังสมัยใหม่รูปแบบหนึ่ง ซึ่งข้อดีของเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก คือ เป็นการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่มีการรบกวนหรือทำลายกล้ามเนื้อบริเวณหลังน้อยกว่าการผ่าตัดแบบปกติ เสียเลือดน้อยลง เจ็บแผลผ่าตัดน้อยลง และการฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วมากขึ้น ตัวอย่างของการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ได้แก่
2.1 การผ่าตัดเพื่อระบายโพรงเส้นประสาท (Nerve Decompression)
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้อง (Full-Endoscopic lumbar Discectomy – FED)
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังแบบใช้กล้องขยาย (Microscopic Lumbar Microdiscectomy)
2.2 การผ่าตัดระบายโพรงเส้นประสาทและใส่เหล็กเชื่อมข้อ (Nerve Decompression and Fusion)
การผ่าตัดเชื่อมข้อทางด้านหลังแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Transforaminal Lumbar Interbody fusion – MIS TLIF) เป็นการผ่าตัดระบายโพรงเส้นประสาทและใส่เหล็กเชื่อมข้อแบบแผลเล็ก ด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ ทำให้ขนาดแผลเล็ก ลดการทำลายกล้ามเนื้อบริเวณหลัง จากการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล
การผ่าตัดเชื่อมข้อโดยผ่าตัดผ่านทางกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Anterior Lumbar Interbody Fusion – ALIF)
การผ่าตัดเชื่อมข้อผ่านด้านข้างของท้อง (Lateral Lumbar Interbody Fusion – LLIF)
3. การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยระบบนำทาง (Navigation and Robot Assisted Spine Surgery)
เป็นเทคนิคการผ่าตัดสมัยใหม่ที่มีการนำระบบนำทางคอมพิวเตอร์ (Navigation system) มาช่วยในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง มีข้อดี คือ ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการใส่เหล็กหรืออุปกรณ์ต่างๆ บริเวณกระดูกสันหลังหรือกระดูกต้นคอ ลดโอกาสการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทบริเวณที่ผ่าตัด