โรคทั่วไป : ระวังโรคฮีทสโตรก เหตุอุณหภูมิสูงจัด ในช่วงสัปดาห์นี้ ประเทศไทยจะมีสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด “อุณหภูมิ” ตั้งแต่ 36-41 องศาเซลเซียส ในวันนี้ (7 พฤษภาคม 2563) บางจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส จึงขอให้ประชาชนระวังการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจเสียชีวิต ได้แก่
เพลียแดด โรคลมร้อนหรือ “ฮีทสโตรก” (Heat Stroke) เกิดจากการทำกิจกรรมหรือทำงานในที่อากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน จนร่างกายไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนในร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอาชีพทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“ในช่วงอากาศร้อน ต้องใส่ใจดูแลทั้งตัวเองและคนรอบกาย โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ถ้าอากาศร้อนจัดควรงดออกไปกลางแจ้ง งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย วันละ 8-10 แก้ว สวมเสื้อผ้าระบายอากาศได้ดี และไม่ควรดื่มสุราขณะอากาศร้อน
จากอากาศร้อนมีผลกระทบต่อสุขภาพ 4 ระดับ คือ 1.ผิวหนังไหม้ 2.ตะคริวจากความร้อน (Heat cramp) เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับเหงื่อมาก 3.เพลียแดด และ 4.ลมแดด เนื่องจากได้รับความร้อนมากหรือนานเกินไป ร่างกายจะร้อนจัด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในได้ สูญเสียระบบการควบคุมอุณหภูมิ โดยจะมีอาการตัวร้อนจัด หมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง ช็อค ผิวหนังแห้ง กระสับกระส่าย หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการ “ฮีทสโตรก” จะมีอาการตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ดื่มน้ำเย็น ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
การช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ว่า ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด คลายชุดชั้นในและถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อนหรือเทน้ำเย็นราดตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง ในรายที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ส่วนการป้องกันอันตรายจากโรคลมแดด ในช่วงที่มีอากาศร้อนขอให้ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงใช้กำลังกลางแจ้ง ให้อยู่ภายในบ้านหรือร่มไม้เท่าที่จะเป็นไปได้ ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวสู้กับอากาศร้อนได้ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และอย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดสูงมาก ในผู้ที่ออกกำลังกายควรทำในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ซึ่งอากาศไม่ร้อนมาก และให้ทำค่อยเป็นค่อยไป