โรคทั่วไป : วิธีสังเกตุอาการโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้า เป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวชที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรมในการใช้ชีวิต รวมไปถึงสุขภาพร่างกาย ซึ่งเป็นอาการป่วยที่ต้องได้รับการเฝ้าระวัง และดูแลกันอย่างต่อเนื่อง อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคนี้สามารถเกิดได้จากสภาวะเครียดสะสม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้มากในวัยทำงาน โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน หนึ่งในนั้นอาจเป็นเพื่อนร่วมงานของคุณก็เป็นได้ มาสังเกตอาการของโรคซึมเศร้าของเพื่อนร่วมงาน เพื่อเตรียมรับมือ และเข้าช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขาสามารถรักษาตัวจนหายดี และกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง
วิธีสังเกตอาการโรคซึมเศร้าของเพื่อนร่วมงาน
โรคซึมเศร้านั้นสามารถสังเกตได้จาก 9 อาการด้วยกัน หากเพื่อนร่วมงานของคุณมีพฤติกรรมแบบเดียวกับอาการเหล่านี้ตั้งแต่ 4 – 5 ข้อขึ้นไป ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าเพื่อนร่วมงานของคุณนั้นเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้
โดยอาการทั้ง 9 นั้น มีด้วยกันดังนี้
-ประสาทสัมผัสเริ่มช้า ทำสิ่งต่างๆ ได้เชื่องช้าลงอย่างเห็นได้ชัด
-มีปัญหาในด้านการนอน ต้องใช้เวลานอนนานกว่าปกติ หรือนอนไม่หลับเลย อาจสังเกตได้จากอาการง่วงซึมระหว่างทำงาน หรือขอบตาที่ดำคล้ำมากขึ้น
-โทษตัวเองบ่อย รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
-สมาธิสั้น มีอาการเหม่อลอย และตัดสินใจอะไรได้ช้าลง
-ร่างกายอ่อนเพลียง่ายกว่าปกติ
-อารมณ์แปรปรวนง่าย อาจมีอาการหงุดหงิด เศร้า หรือโมโหตลอดทั้งวัน
-เบื่อง่าย รู้สึกไม่เอ็นจอยกับสิ่งที่ชอบเหมือนเคย
-รู้สึกเบื่ออาหาร หรืออยากอาหารมากเป็นพิเศษ สังเกตได้จากน้ำหนักตัวที่ลดลง หรือเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
-ไม่อยากมีชีวิตอยู่ และคิดเรื่องความตายอยู่บ่อยครั้ง
หลายๆ คนคิดว่าวิธีการรับมือกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าคือ การคอยพูดให้กำลังใจ หรือมอบมุมมองในแง่บวกให้ แล้วพวกเขาจะสามารถหายจากอาการนี้ได้เอง ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น!
วิธีการรับมือกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าที่ดีที่สุดนั้น ผู้ดูแลจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อารมณ์ที่แปรปรวนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น เกิดมาจากการทำงานที่ผิดปกติของเคมีในสมอง ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์เฉพาะทาง