ตรวจภายใน ลดความเสี่ยงโรคร้ายในสตรี การตรวจภายใน (Per Vaginal Examination / Pelvic Examination) เป็นการตรวจดูอวัยวะภายในบริเวณอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง โดยแพทย์จะมีการตรวจอวัยวะเพศหญิง ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำรังไข่ รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วยหรือโรค
ขั้นตอนในการตรวจภายใน
การตรวจภายในโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ประกอบด้วยขั้นตอนในการตรวจหลัก ๆ ได้แก่ การตรวจดูอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกด้วยตาเปล่า (External Visual Exam) การตรวจดูภายในช่องคลอดด้วยเครื่องมือสำหรับตรวจช่องคลอด (Internal Visual Exam) การตรวจด้วยการใช้มือคลำที่หน้าท้องพร้อมกับการใช้นิ้วสอด (Bimanual Examination)
ในขั้นแรก ผู้เข้ารับการตรวจต้องมีการถอดกางเกงในและเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนทำการตรวจ จากนั้นให้นอนลงบนเตียงตรวจที่มีขาหยั่ง แพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ผู้เข้ารับการตรวจจัดท่าทางในลักษณะใด ผู้เข้ารับการตรวจต้องพยายามแยกหัวเข่าทั้ง 2 ข้างให้กว้าง เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจได้สะดวก อาจมีการใช้ผ้าคลุมที่ร่างกายส่วนอื่นโดยเหลือเฉพาะช่วงที่มีการตรวจไว้
แพทย์จะเริ่มตรวจโดยดูบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกด้วยตาเปล่าว่ามีสภาพเป็นปกติหรือไม่ มีรอยแดง แผล บวม หรืออาการผิดปกติหรือไม่ จากนั้นจึงเริ่มใช้เครื่องมือสำหรับตรวจคลอด (Speculum) สอดเข้าไปบริเวณปากช่องคลอด เพื่อขยายช่องคลอดให้กว้างขึ้น ในบางรายอาจมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปพร้อมกัน โดยแพทย์ใช้อุปกรณ์ป้ายตัวอย่างของเซลล์บริเวณปากมดลูกบางส่วนออกมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูก หรือที่เรียกว่าการตรวจแปปสเมียร์ เมื่อตรวจเสร็จจึงนำอุปกรณ์ทั้งหมดออก
หลังจากเอาอุปกรณ์ออก แพทย์จะตรวจในขั้นต่อไปด้วยคลำด้วยนิ้วภายในช่องคลอด เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก โดยสวมถุงมือที่มีการเคลือบสารหล่อลื่น จากนั้นใช้นิ้วมือสอดเข้าไปทางอวัยวะเพศ และมืออีกข้างคลำบริเวณหน้าท้อง เพื่อตรวจดูขนาดและตำแหน่งของมดลูกว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น มีก้อนเนื้อ กดแล้วมีความรู้สึกเจ็บ หรือสิ่งผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่ ในบางกรณี แพทย์อาจมีการตรวจทางทวารหนักด้วย เพื่อหาก้อนเนื้องอกหรือความผิดปกติของผู้เข้ารับการตรวจ
อย่างไรก็ตาม แพทย์จะมีการแจ้งให้ผู้เข้ารับการตรวจได้ทราบว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นในระหว่างการตรวจแต่ละขั้นตอน
ก่อนการตรวจภายในไม่มีขั้นตอนการเตรียมตัวเป็นพิเศษ แต่ควรหลีกเลี่ยงการเข้ารับการตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน ห้ามมีเพศสัมพันธ์หรือการใช้ยารักษาภาวะช่องคลอดแห้ง ยาเหน็บบริเวณอวัยวะเพศอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงก่อนการตรวจ ซึ่งเป็นข้อควรระวังที่อาจส่งผลต่อการตรวจได้
นอกจากนี้ แพทย์จะมีการสอบถามและซักประวัติผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินร่วมกับผลตรวจ จึงควรมีการแจ้งข้อมูลกับแพทย์ตามความเป็นจริง เช่น
-ปัญหาสุขภาพโดยทั่วไป อาการแพ้ ยาที่รับประทาน
-ระยะเวลาในการมีประจำเดือนนานแค่ไหน ประจำเดือนมาครั้งแรกเมื่อไหร่ ประจำเดือนมามากน้อยแค่ไหน มีอาการปวดประจำเดือนหรือไม่
-เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่
-คันบริเวณอวัยวะเพศ อวัยวะเพศมีกลิ่น หรือตกขาวผิดปกติหรือไม่