ประเภทของประกันสุขภาพที่เป็นที่นิยม การประกันภัยที่บริษัทประกันภัยตกลงที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้เอาประกันภัย ไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลนั้นจะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับการประกันสุขภาพ จะยึดหลักเกณฑ์เดียวกับการประกันภัยประเภทอื่น ๆ คือ “จ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้”
ในการเลือกสัญญาประกันชีวิตที่จะมาเป็นสัญญาหลักสำหรับแนบประกันสุขภาพเพิ่มเติมนั้น ต้องวางแผนในตอนเริ่มต้นว่าจะซื้อเป็นประกันชีวิตประเภทใด ซึ่งประกันชีวิตที่สามารถนำมาแนบประกันสุขภาพเพิ่มได้นั้น ก็จะมีให้เลือกตั้งแต่ ประกันชีวิตตลอดชีพ ประกันสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตควบการลงทุน ฯลฯ
สำหรับท่านใดต้องการจะทำเน้นเฉพาะในส่วนของประกันสุขภาพ ก็สามารถเลือกใช้แบบประกันชีวิตที่ค่าเบี้ยและความคุ้มครองต่ำสุดตามกฎเกณฑ์ เพื่อเน้นแต่เฉพาะในส่วนของค่ารักษาพยาบาลได้ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท)
ประกันสุขภาพ มีกี่แบบ
สัญญาเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลและศัลยกรรม
เป็นที่รู้จักกันดีว่า เมื่อต้องไปนอน รพ. แล้ว จะมีบริษัทประกัน มาช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ โดยมากจะหมายถึงสัญญาประเภทนี้ โดยจะมีวงเงินค่ารักษาพยาบาลในหมวดต่างๆ ได้แก่ ค่าห้อง(รวมค่าการพยาบาลและค่าอาหาร), ค่าแพทย์, ค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ, ค่าผ่าตัด ฯลฯ โดยจะจ่ายสินไหมให้ตามจริง แต่ไม่เกินวงเงินที่ซื้อไว้
สัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยวันนอนรายวัน
เป็นเงินชดเชยค่าเสียเวลาเนื่องจากการขาดรายได้ เมื่อต้องไปนอน รพ. หากมีการซื้อชดเชยวันนอนไว้ จะจ่ายชดเชยตามจำนวนคืนที่ไปนอน เช่น ซื้อชดเชยวันนอนไว้คืนละ 1,000 บาท เมื่อต้องนอน รพ. 5 คืน ก็จะได้รับชดเชยวันนอนเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท
สัญญาชดเชยผลประโยชน์กรณีพบโรคร้ายแรง
หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง โรคใดโรคหนึ่ง ตามรายการและรยะของโรคที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ จะได้รับเงินชดเชยตามจำนวนเงินเอาประกันที่ได้ซื้อไว้
สัญญาเพิ่มเติมชดเชยจากอุบัติเหตุ
เป็นเงินชดเชยเพิ่มเติมเข้าไปจากสัญญาหลัก ให้กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือ ทุพพลภาพ อันเนื่องมาจากการเกิดอุบัติเหตุ
การซื้อสัญญาสุขภาพเพิ่มเติมจะสามารถแนบสัญญาหลายๆตัวในกรมธรรม์เล่มเดียวกันได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นกับเงื่อนไขบริษัทว่าจะสามารถซื้อสัญญาใดได้บ้าง เช่น อาจมีการกำหนดช่วงอายุของการซื้อประกันสุขภาพบางชนิด หรือ มีการกำหนดเงื่อนไขการซื้อแบบขั้นสูงหรือขั้นต่ำของประกันบางประเภทไว้ เป็นต้น