พื้นฐานการตรวจร่างกายของโปรแกรมตรวจสุขภาพ

พื้นฐานการตรวจร่างกายของโปรแกรมตรวจสุขภาพ หลายครั้งที่ไปตรวจสุขภาพ เรามักจะพบกับคำศัพท์ที่ยากจะเข้าใจ ตัวย่อของการตรวจวัดค่าต่างๆในร่างกายรวมถึงตัวเลขที่ดูเหมือนว่าคุณหมอเท่านั้นที่รู้ความหมาย หลังจากที่ได้รับการอธิบายจากคุณหมอแล้วก็ถึงจะเข้าใจ พอกลับบ้านก็รู้สึกยังจำไม่ค่อยได้เลยว่าตัวเลขเท่านี้ดีหรือไม่ ค่าปกติควรได้เท่าไร สรุปแล้วร่างกายเราปกติหรือไม่ เพราะนั้นการเข้าใจผลตรวจสุขภาพพื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่เราควรรู้เมื่อไปตรวจสุขภาพ

พื้นฐานการตรวจร่างกายของโปรแกรมตรวจสุขภาพมีอะไรบ้าง

พื้นฐานการตรวจสุขภาพของทุกโรงพยาบาลนอกจากการวัดความดัน วัดส่วนสูง น้ำหนักแล้วการตรวจวัดค่าพื้นฐานความปกติในร่างกาย หรือการตรวจสารเคมีในเลือดที่จำเป็นจะเริ่มจากการตรวจหมู่เลือด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจระดับไขมันในเลือดตรวจ การทำงานของตับ ตรวจการทำงานของไต ตรวจปัสสาวะ ตรวจกรดยูริกในเลือดเป็นต้น

ตัวเลขของการตรวจสุขภาพบอกอะไรเราได้บ้าง

ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เป็นการตรวจนับปริมาณ ปริมาตร และรูปร่างของเม็ดเลือดแดงเพื่อบอกว่าเรามีภาวะโลหิตจางหรือไม่ คือ ค่าฮีโมโกลบินของผู้ชายจะอยู่ที่ 13 -18 กรัมต่อเดซิลิตร และของผู้หญิง12-16 กรัมต่อเดซิลิตร หากมีค่าต่ำกว่าค่าปกติ ก็ควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร

ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เป็นการคัดกรองภาวะโรคเบาหวาน โดยที่ระดับกลูโคสไม่ควรเกิน 100 หากค่าสูงกว่า นั่นคือกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน แต่ก็ยังมีการตรวจเพื่อความแม่นยำที่มากขึ้น คือการดูค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม คือซึ่งเป็นการดูระดับน้ำตาลตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากขึ้น

ตรวจระดับไขมันในเลือด เป็นการตรวจหา คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดโดยซึ่งคือการหา ไขมันดี และไขมันไม่ดี ถ้าหากพบว่าค่าสูงกว่าเกณฑ์ปกติอาจนำไปสู่ความเสี่ยงของโรคระบบหลอดเลือดหัวใจได้

การตรวจการทำงานของตับ เป็นการตรวจหาเอนไซม์การทำงานของตับ SGOT และ SGPT ซึ่งสามารถบอกได้ว่าตับอยู่ในภาวะที่ทำงานปกติหรือไม่ นอกจากนี้สามารถตรวจถึง ภาวะที่ตับเกิดการอุดตัน (Alkaline phosphatase) จากสาเหตุอะไรบางอย่างได้ด้วย

การตรวจการทำงานของไต เป็นการวัดระดับปริมาณของเสียในร่างกาย BUN Creatinine ถ้าค่าระดับสูงกว่าปกตินั่นคือควรได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม

การตรวจระดับกรดยูริกในเลือด กรดยูริกมาจากการย่อยสารพิวรีน ซึ่งมีอยู่มากในอาหารประเภท สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก ซึ่งปกติเราสามารถกำจัดกรดยูริกได้ทางปัสสาวะ แต่ถ้าร่างกายขับกรดยูริกออกได้ไม่หมดก็จะเกิดการสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์ได้

การตรวจปัสสาวะ สามารถบอกถึงความผิดปกติได้หลายอย่าง ตั้งแต่ร่างกายขาดน้ำหรือไม่ พฤติกรรมการดื่มน้ำของเรา การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรืออัตราการกรองของไตเป็นอย่างไร