วัณโรค ติดต่อทางใด ป้องกันอย่างไรจึงจะปลอดภัย โรคภัยไข้เจ็บ มักจะเกิดขึ้นมาโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะโรคร้ายหรือโรคติดต่อต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้นั้นก็มักจะไม่แสดงอาการออกมาทันที แต่รอให้อวัยวะภายในได้รับความเสียหายก่อนถึงจะเริ่มมีอาการบอกโรค
สำหรับคนไทยแล้ว โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายที่น่ากลัวมาก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย แต่นอกจากโรคมะเร็งแล้ว ยังมีอีก 1 โรคที่น่ากลัวไม่แพ้กัน แถมยังเป็นโรคติดต่อที่ติดกันง่ายด้วย นั่นก็คือ “วัณโรค”
ทำความรู้จัก “วัณโรค”
วัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium ซึ่งเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium นี้มีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่พบบ่อยสุดและเป็นปัญหาที่สุดในประเทศไทย คือ Mycobacterium tuberculosis
ฉะนั้น สาเหตุการป่วยวัณโรคคือการรับเชื้อมา ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ และเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย ตั้งแต่เส้นผม ผิวหนัง กระดูก เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท และโพรงจมูก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ปอด ทำให้เป็น “วัณโรคปอด”
วัณโรคกว่า 85 เปอร์เซ็นต์พบที่ปอด แต่เมื่อปอดติดเชื้อแล้ว เชื้อสามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ ทำให้มีความอันตรายมากน้อยต่างกันไป แต่มีผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อวัณโรคนอกปอด จากการที่เชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ จะเกิดขึ้นได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ที่พบมากคือที่ กระดูก มีอาการปวด และผิวหนัง มีแผลติดเชื้อเรื้อรังได้
การติดต่อของวัณโรค
วัณโรค ติดต่อกันผ่านระบบทางเดินหายใจ โดยการไอ จาม การพูดคุย หรือการหายใจรดกัน ในลักษณะที่ผู้อื่นมีโอกาสที่จะสัมผัสกับน้ำลายของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยไอ จาม พูด หรือทำกิริยาอาการอื่นที่ทำให้มีฝอยละอองน้ำลายออกมา เชื้อเหล่านี้จะอยู่ในละอองฝอยของเสมหะ อนุภาคของฝอยละอองที่ขนาดเล็กมาก ๆ ประมาณ 1-5 ไมครอน จะกระจายอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง
แต่เชื้อตัวนี้สามารถถูกทำลายได้โดยความร้อน ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นฝอยละอองขนาดใหญ่ เมื่อพ่นกระจายออกมาก็จะตกลงสู่พื้นและแห้งไป ไม่ลอยในอากาศ และฝอยละอองขนาดใหญ่บางส่วนจะถูกกรองไว้ที่เยื่อบุโพรงจมูกซึ่งไม่ทำให้เกิดโรค
ความน่ากลัวของวัณโรค มาจากการที่ผู้ติดเชื้อวัณโรคส่วนมากจะไม่แสดงอาการ แต่มีเชื้ออยู่ในร่างกายและเป็นพาหะได้ เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอลง ภูมิคุ้มกันลดลง อาการจะเริ่มแสดงออก เพราะเชื้อจะลงสู่ปอด ค่อย ๆ กัดกินทำลายเนื้อปอดไปเรื่อย ๆ จนปอดเป็นแผล เป็นรูได้
หลังจากที่หายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าปอด ร่างกายที่มีภูมิต้านทานจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ถ้าฆ่าไม่หมด เชื้อจะยังคงอยู่ในเม็ดเลือดขาว แบ่งตัวอย่างช้า ๆ จนมีปริมาณมากพอที่ทำให้ร่างกายสร้างภูมิต่อโรค ระยะนี้สามารถตรวจพบภูมิโดยการทดสอบทางผิวหนัง ก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อจะแพร่กระจายไปยังระบบน้ำเหลืองและกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ถ้าร่างการสร้างภูมิคุ้มกันเต็มที่เชื้อก็จะไม่แบ่งตัวหรือแบ่งตัวช้าลงมาก และจะไม่ติดต่อหรือก่อให้เกิดโรค
ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค อันที่จริงเราทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเหมือนกันหมด เนื่องจากเป็นเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศ จึงมีโอกาสจะไปรับเชื้อมาจากที่ไหนก็ได้ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือผู้ที่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่แออัด จากการหายใจร่วมกัน และผู้ที่ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคมะเร็ง
เรามีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคมากแค่ไหน?
วัณโรค ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ตามข้อมูลของกรมควบคุมโรค กองวัณโรค อ้างจาก Global Tuberculosis Report 2019 องค์การอนามัยโลกได้จัดกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคสูง ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
TB คือ 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง
TB/HIV คือ 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีสูง
MDR-TB คือ 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง