ปกป้องเงินออมด้วยประกันสุขภาพ มีใครเคยเป็นแบบนี้บ้าง เวลาเจ็บป่วยไม่สบายขึ้นมา ก็ไม่กล้าไปหาหมอ คิดว่าเดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง ไม่ใช่เพราะกลัวเข็มฉีดยา หรือกลัวการกินยาแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะกลัวค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าหลายคนกังวลเรื่องนี้ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าค่าหมอ ค่ายาเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ถูก ๆ เจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ต้องมีหลักพัน เผลอ ๆ บางโรคมีค่ารักษาสูงถึงหลักหมื่นหลักแสน เรียกว่า เจ็บป่วยทีหนึ่งสะเทือนถึงเงินในกระเป๋าเลยทีเดียว ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว จะทำอย่างไรให้เราไม่ต้องกังวลกับค่ารักษาพยาบาล แนวทางหนึ่ง ก็คือ “การทำประกันสุขภาพ” ทั้งนี้ ประกันสุขภาพก็มีหลายรูปแบบ แล้วเราควรเลือกซื้อแบบไหนดี
ซื้อแบบแยกค่าใช้จ่าย vs ซื้อแบบเหมาจ่าย
ประกันสุขภาพสามารถแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ ด้วยกัน คือ แบบแยกค่าใช้จ่าย และแบบเหมาจ่าย โดยถ้ามองว่าแต่ละครั้งที่เราเจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงมากนัก ก็เลือกทำ “ประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย” ซึ่งแนะนำให้ดูว่าโรงพยาบาลที่คาดว่าจะเข้ารับบริการเมื่อเจ็บป่วยนั้น มีค่าห้องเท่าไร เพื่อเลือกซื้อวงเงินค่าห้องของแบบประกันให้สอดคล้องกัน ยิ่งค่าห้องสูง วงเงินค่ารักษา เช่น ค่าอาหาร ค่าหมอ ค่ายา ค่าผ่าตัด ค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ ก็ยิ่งสูงตาม แต่ถ้ามีค่าใช้จ่ายรายการใดที่เกินวงเงิน ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นเพิ่มเติมเอง สำหรับค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายจะขึ้นอยู่กับค่าห้องที่เราเลือก
แต่ถ้าอยากให้ความคุ้มครองจากประกันครอบคลุมค่ารักษามากที่สุด เพราะแต่ละครั้งที่เข้ารับการรักษาอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูง “ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย” ก็จะเหมาะกว่า อย่างไรก็ตาม ประกันสุขภาพแบบนี้อาจมีค่าเบี้ยประกันที่สูง และบางกรมธรรม์อาจกำหนดวงเงินสำหรับค่ารักษาบางรายการ เช่น ค่าห้อง โดยถ้าเราพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่มีค่าห้องสูงกว่าที่กำหนดในกรมธรรม์ เราก็ต้องจ่ายเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เองด้วย หรือซื้อประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อให้มีความคุ้มครองเพิ่มขึ้น
ซื้อเฉพาะคุ้มครองผู้ป่วยใน vs ซื้อเพิ่มเติมผู้ป่วยนอก
ประกันสุขภาพโดยทั่วไปจะคุ้มครองค่ารักษากรณีที่เราเป็น “ผู้ป่วยใน” คือ สามารถเบิกเคลมค่ารักษาจากประกันได้เมื่อมีการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง หรือป่วยด้วยโรคที่จัดอยู่ใน Day Case คือ เป็นโรคที่เมื่อรับการรักษาแล้ว ไม่ต้องแอดมิท สามารถกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้ และเพียงวันเดียวก็ทำงานหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ส่วนความคุ้มครองกรณี “ผู้ป่วยนอก” แบบที่ไม่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล หรือการรักษาตามคลินิกทั่วไป มักต้องซื้อเพิ่มเติม แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อครั้งมักไม่สูงนัก แต่โดยส่วนใหญ่ คนเรามีโอกาสเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้บ่อยกว่าการเจ็บป่วยแบบที่ต้องนอนโรงพยาบาล ทำให้ถ้ารวมค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งเข้าด้วยกันแล้ว ก็อาจเป็นจำนวนเงินที่สูงได้ ดังนั้น ถ้ามองว่า ตัวเองมีโอกาสเจ็บป่วยบ่อย ก็ควรซื้อความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอกไว้ด้วย แม้ว่าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันสูงขึ้น แต่ก็ช่วยเพิ่มความคุ้มครองให้กับตัวเราเอง
นอกจากการทำประกันสุขภาพเพื่อคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลโดยทั่วไปแล้ว ยังมีประกันสุขภาพอีกรูปแบบหนึ่งที่เราควรทำไว้เช่นกัน ก็คือ “ประกันโรคร้ายแรง” เพราะจากสถิติการเสียชีวิตของคนไทยพบว่า ทุก ๆ 1 ชั่วโมงจะมีคนเสียชีวิตจาก 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด และโรคความดันโลหิตสูง ยิ่งใครที่มีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมีประวัติการเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง ก็ยิ่งควรทำ
เพราะค่ารักษาครั้งหนึ่งอาจสูงถึงหลักแสนหรือหลักล้าน ถ้ามีเงินเก็บไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อการเงินได้ ซึ่งประกันโรคร้ายแรงก็มีหลายรูปแบบด้วยกัน บางแบบคุ้มครองเฉพาะโรคมะเร็ง บางแบบคุ้มครอง 4-5 โรคที่คนไทยเป็นกันมาก หรือบางแบบคุ้มครองถึง 40 หรือ 50 โรคร้ายแรง ซึ่งแบบที่ให้ความคุ้มครองหลายโรคจะมีเบี้ยประกันที่สูงกว่าแบบที่คุ้มครองเพียงไม่กี่โรคเท่านั้น
เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่า เราจะเจ็บป่วยเมื่อไร เป็นโรคอะไร หรือต้องใช้เงินค่ารักษามากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราคงไม่อยากให้เงินที่เราเก็บหอมรอมริบไว้เพื่อเป้าหมายหรือความฝันในชีวิตของเราต้องหมดไปกับค่ารักษาพยาบาลเป็นแน่ ดังนั้น จะดีกว่ามั้ย ถ้าในแต่ละปี เรากันเงินส่วนหนึ่งมาทำประกันสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เราอาจต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล โดยก่อนทำประกัน ควรศึกษารายละเอียดความคุ้มครองเพื่อเลือกแบบประกันที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด และที่สำคัญ ดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้สุขภาพที่ดีอยู่กับเราไปนาน ๆ