เชื้อโควิดลงปอดรักษายังไง ดูแลตัวเองเบื้องต้นได้หรือไม่ ?

เชื้อโควิดลงปอดรักษายังไง ดูแลตัวเองเบื้องต้นได้หรือไม่ ? เพราะไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่มีเป้าหมายมุ่งตรงเข้าทำลายปอด อวัยวะที่ทำหน้าที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีผลต่อระบบไหลเวียนเลือดในปอดและร่างกายทุกระบบ เมื่อเชื้อ ‘โควิดลงปอด’ จึงทำให้การทำงานของปอดผิดปกติ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นวิกฤติจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ชวนมาทำความเข้าใจ… เช็กอาการยังไง หากสงสัยเชื้อโควิดลงปอด ?

โควิดลงปอด อาการแสดงออกยังไง ?
นอกจากความเล็กจิ๋วที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้ว ความไวและความเงียบของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นไฮไลต์สำคัญที่ทำให้เราต้องระมัดระวังและตั้งการ์ดสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หากเข้ารับการตรวจคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อ อาจเสี่ยงมีอาการรุนแรงได้มากกว่าผู้ติดเชื้อในกลุ่มทั่วไป ยิ่งในผู้ที่มีภาวะอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปอดทำงานได้น้อยลง บวกกับการติดเชื้อโควิดยิ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอดโดยตรง เนื่องจากประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนก๊าซที่น้อยลง เป็นผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลงตามลำดับ โดยมีอาการแสดงต่างๆ เกิดขึ้นได้ ดังนี้

อาการหอบเหนื่อย แม้จะทำกิจกรรมที่ไม่ได้ออกแรงมากก็ตาม

หายใจลำบาก หายใจไม่สุด หรือหายใจได้ไม่เต็มปอด

รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก

อาการไอ ไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ

มีอาการไข้มากกว่า 37.5°C ขึ้นไป

พร้อมๆ กับการเช็กอาการโควิดลงปอดเบื้องต้นด้วยตนเอง ด้วยอุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนในเลือดบริเวณปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) ที่ไม่ควรมีระดับต่ำกว่า 95% โดยแนะนำให้ผู้ป่วยโควิดติดตามค่าออกซิเจนในเลือดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีวิธีทดสอบอื่นๆ เพื่อเช็กว่าโควิดลงปอดแล้วหรือไม่ เช่น ลุก-นั่งเป็นเวลา 1 นาที หรือกลั้นหายใจเป็นเวลา 10-15 วินาที และวัดค่าออกซิเจนในเลือดทันที หากมีระดับต่ำกว่า 94% และมีอาการเหนื่อยหอบร่วมด้วย ให้สงสัยเชื้อโควิดลงปอด อย่างไรก็ตามอาการโควิดลงปอด หรือปอดอักเสบโควิด สามารถพบได้ประมาณ 50-70% ของผู้ที่ติดเชื้อ การสังเกตอาการตัวเองเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยควรทำสม่ำเสมอ

เชื้อโควิดลงปอด รักษา

เชื้อโควิดลงปอดรักษายังไง ดูแลตัวเองเบื้องต้นได้หรือไม่ ?
หากมีอาการต้องสงสัยว่าเข้าข่ายเชื้อโควิดลงปอด แพทย์จะทำการยืนยันผลตรวจโดยการทำเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray) เพื่อเริ่มต้นขั้นตอนการรักษา ซึ่งเป็นการให้ยาตามลักษณะอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อยับยั้งความรุนแรงและการกระจายตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปยังอวัยวะอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโควิดสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นก่อนเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยตรงก่อนได้ ดังนี้

ปรับท่านอนช่วยเพิ่มออกซิเจนในปอดในท่านอนคว่ำ นอนตะแคง และท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน (30 นาที- 2 ชม.)

ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวขาบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด และป้องกันการเกิดลิ่มเลือด

ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ประมาณ 2-2.5 ลิตรต่อวัน และรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์เพียงพอ

สำหรับผู้ที่มียาประจำตัวให้รับประทานอย่างสม่ำเสมอ กรณีมีโรคความดันโลหิตสูงควรวัดความดันต่อเนื่อง

รวมถึงการเตรียมยาและอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ เช่น ยาลดไข้ และเครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือดบริเวณปลายนิ้ว ควบคู่กับการดูแลรักษาสุขภาพโดยเฉพาะการรับประทานยาสมุนไพรต่างๆ ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าสังเกตอาการตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ป่วยระดับสีเขียวก็ควรเฝ้าระวัง และป้องกันไม่ให้เชื้อลงปอดระหว่างรักษาตัวเช่นเดียวกัน