ประกันสุขภาพ มีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร

ประกันสุขภาพ มีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร

ประกันสุขภาพมีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร? จากวิกฤติโควิด-19 หรือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องของการทำ “ประกันสุขภาพ” กัน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้อธิบายเกี่ยวกับความคุ้มครองโควิด ในประกันสุขภาพไปแล้ว

ประกันสุขภาพ มีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร

วันนี้จึงขอมาอธิบายเพิ่มเติมให้เพื่อน ๆ เข้าใจง่าย ๆ ครับว่า ประกันสุขภาพ คืออะไร แบ่งเป็นกี่ประเภท แต่ละแบบดีอย่างไร และมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพื่อที่เพื่อน ๆจะได้นำไปเลือกซื้อประกันสุขภาพได้อย่างเหมาะสม ตรงกับความต้องการของตัวเองมากที่สุดครับ

1. ประกันสุขภาพ ผู้ป่วยนอก (OPD)
การประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก คือ ความคุ้มครอง กรณีผู้เอาประกันได้รับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล พบแพทย์ วินิจฉัย จ่ายยา(ถ้ามี) แล้วก็กลับบ้านได้เลย หรือกรณีที่เรามีอาการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง เช่น การฉีดวัคซีน เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย เป็นต้น

2. ประกันสุขภาพ ผู้ป่วยใน (IPD)
การประกันสุขภาพผู้ป่วยใน คือ ความคุ้มครองกรณีผู้เอาประกัน ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลติดต่อกัน 6 ชั่วโมงขึ้นไป กรณีที่เราต้องนอนพักในโรงพยาบาล ทั้งนี้รวมถึงการที่โรงพยาบาลรับตัวผู้ป่วยหรือผู้เอาประกันไว้ แต่เสียชีวิตลงภายใน 6 ชั่วโมงด้วยนะครับ

3. ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง (ECIR)
เนื่องจากบางโรคนั้นเป็นโรคที่ต้องใช้การรักษาเป็นระยะเวลานาน และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง เช่น โรคหัวใจ, โรคมะเร็ง, โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งบางครั้ง ประกันสุขภาพที่มีอยู่จะให้ความคุ้มครองได้ไม่เพียงพอ จึงมีประกันสุขภาพโรคร้ายแรง เพิ่มขึ้นมา เพื่อให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับโรคร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและต้องรักษาต่อเนื่องโดยเฉพาะ หรือโรคที่เกิดจากการบาดเจ็บร้ายแรง เป็นต้น ซึ่งประกันแบบนี้ก็จะระบุในกรมธรรม์ ว่าจะจ่ายเงินเมื่อเราเป็นโรคอะไรบ้าง จ่ายเมื่อตรวจเจอ หรือเป็นโรคอยู่ที่ระดับไหน อย่างไร

4. ประกันสุขภาพ อุบัติเหตุ (PA)
ประกันอุบัติเหตุ คือ ความคุ้มครองกรณีผู้เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะมีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย ไปจนถึงขั้นทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ทางบริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาตัวของเรา ถ้าหากร้ายแรงถึงขั้นต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เราด้วยครับ

5. ประกันชดเชยรายได้
การประกันชดเชยรายได้ คือ ความคุ้มครองเกี่ยวกับรายได้ของผู้เอาประกันระหว่างนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยบริษัทประกันจะชดเชยค่าสินไหมทดแทนเป็นรายวันให้ ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็เพื่อเป็นการชดเชยรายได้เมื่อเราไม่สามารถทำงานได้จากการพักรักษาตัวนั่นเอง รายละเอียดก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละกรมธรรม์ เช่น ชดเชยวันละ 300 บาท 500 บาท หรือวันละ 1,000 บาท เป็นต้น

เพื่อนๆ ลองคำนวณดูก็ได้ครับว่าเงินค่าจ้างที่เราได้รับนั้นคิดเป็นรายวันแล้วเฉลี่ยวันละเท่าไหร่ เพื่อประเมินว่าเราควรทำประกันระดับไหนจึงจะชดเชยรายได้ที่เราต้องเสียไปในแต่ละวันได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด